Site icon Thumbsup

เมื่อ Micro Influencer อาจเป็นที่ต้องการมากกว่า Influencer

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ที่หลายคนนิยมกระแสไวรัล จนก่อให้เกิดเพจดังอย่าง Drama Addict ขึ้นมา เมื่อเข้าสู่ยุค 2017 กลุ่ม Influencer ก็เริ่มกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะพฤติกรรมออนไลน์ของคนไทยที่ชอบค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ และปี 2018 นี้ ก็เปลี่ยนอีกรอบ เพราะผู้บริโภคเริ่มแยกแยะระหว่างการเป็น Influencer แบบแท้จริงกับ Content Marketing ได้แล้ว จนเกิดข้อกังขาหาก Influencer เหล่านั้น อวยแบรนด์มากเกินไป จนโลกออนไลน์เข้าสู่ยุคของ Micro Influencer หรือคนทั่วไปบอกอะไรคนก็เชื่อ

นายอนุพงศ์ จันทร กรรมการผู้จัดการ แพลตฟอร์ม เรวู” บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าให้ฟังว่า แนวโน้มการเติบโตของ Micro Influencer มีเยอะขึ้น เพราะพวกเขาไม่ได้อยากได้เงินเสมอไป แต่ต้องการมีตัวตนในสังคม อยากเก่งอยากเป็นที่รู้จัก ซึ่งพวกเขาจะพัฒนาตนเองและพยายามที่จะสร้างคอนเทนต์ให้ดีและหลากหลายเพื่อดึงดูดคนอ่านจนมีผู้ติดตามจำนวนมาก

“ที่จริง Micro influencer ก็ถือว่าเป็นผู้ใช้งานจริงเหมือนกัน เพียงแต่เขาจะจับทุกสิ่งรอบตัวมารีวิว เมื่อจำนวนเยอะขึ้นก็เกิดความคาดหวังและเป็นรู้จักไปเอง”

Influencer Marketing

ในยุคนี้มีแบรนด์ต่างๆ ใช้กลยุทธ์นี้มากขึ้น อาจเป็นเพราะแบรนด์มองว่าพวกเขาเปรียบเสมือนผู้นำที่พูดอะไรแล้วก็มีคนทำตาม รวมทั้งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ หรือเป็นผู้นำที่ทดลองสินค้าก่อนและจุดไฟให้คนอยากลองบ้าง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ หาก Influencer อวยแบรนด์มากเกินไป ก็จะทำให้คอนเทนต์นั้นไม่น่าสนใจและโดนเพิกเฉยบ้าง

ดังนั้น คุณควรรู้ก่อนว่า Micro Influencer ทำอะไรได้บ้าง

Micro Influencer ไม่อาจช่วยประเมิณได้ว่า หากทำงานร่วมกันแล้วจะมียอดขายกลับมาเท่าไหร่ ตั้งเป้าและคาดหวังยอดขายไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เพราะการตัดสินใจซื้อสินค้าเป็นเรื่องของผู้บริโภค สิ่งที่แบรนด์ได้จากการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งแบบนี้คือ ภาพลักษณ์และการเป็นที่รู้จัก แต่สิ่งที่ออนไลน์มีมากกว่าสื่อหลักคือ คุณจะทราบถึง Feedback เกี่ยวกับสินค้าของคุณ ซึ่งดีหรือร้ายก็ต้องยอมรับ นำไปปรับปรุงและสร้างความเชื่อมั่นของแบรนด์ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่โกรธ แบนลูกค้าและเพิกเฉย เพราะนั่นเป็นการเอาอารมณ์มาทำธุรกิจ ไม่ใช่แบบอย่างของมืออาชีพ
แม้ว่าจะมีผู้ให้บริการทั้งไทยและต่างชาติที่ทำธุรกิจด้าน Micro Influencer รายใหญ่ 4-5 ราย แต่ส่วนใหญ่จะเน้นที่ FB Campaign แต่ไม่ว่าจะรูปแบบการให้บริการใด ก็สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับออนไลน์นั้น มาแรงและสร้างรายได้

รายได้ของบริษัท

ทางด้าน Revu นั้น มั่นใจว่าจะมีรายได้ดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าสิ้นปีนี้จะแตะ 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 40% โดยลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนใหญ่ยังเป็นในไทย แต่ถ้าเป็นแบรนด์ต่างชาติที่ต้องการทำตลาดในไทยก็เริ่มมีบ้างแต่ไม่เยอะ ด้านจำนวนลูกค้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 ราย จากตอนนี้ 300 ราย

ส่วนจำนวน Micro Influencer นั้น ตอนนี้มีอยู่ 12,000 ราย คาดว่าจะเพิ่มให้ถึง 20,000 ราย เพราะตอนนี้มีแคมเปญที่ดูแลแล้วกว่า 2,500 แคมเปญ ปีหน้าจะเพิ่มอีก 1,000 แคมเปญ รวมเป็น 3,500 แคมเปญ โดยรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มากจาก Micro Influencer ถึง 70% ส่วน Influencer ทำได้ 30% จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทต้องการเพิ่มจำนวนของ Micro Influencer ให้มากขึ้น

ต้องจับตามองกันว่า Micro Influencer จะสร้างปรากฏการณ์และรายได้ให้แก่ Revu ได้มากขึ้นตามที่คาดหวังจริงหรือไม่