Site icon Thumbsup

ไม่ได้หวังผลกำไร SCB ปั้น Robinhood หวังช่วยเป็นทางรอดให้ร้านค้ารายย่อย

เป็นบริการที่เปิดขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ของทาง SCB ที่หวังจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของร้านอาหารรายย่อยที่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ แม้ว่าทางผู้ให้บริการหลักทั้งหลายจะกังวลว่าการเข้ามานี้จะแย่งส่วนแบ่งตลาดหรือไม่

แต่ทีม SCB ก็ออกมาให้เหตุผลแบบสวยๆ ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่จะใช้งบปีละ 1,500 ล้านบาทและเชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้ ไม่น่าจะสู้กับงบของคู่แข่งในตลาดที่แข่งดุไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปีได้ สิ่งที่มุ่งหวังคือเพื่อเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนขับรถและร้านอาหารรายย่อยที่ยังไม่มีโอกาสบนโลกออนไลน์ได้เข้ามามีตัวตนและสร้างโอกาสอยู่รอดได้เสียที

ตั้งบริษัทใหม่เดินหน้า Robinhood

คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปั้น Robinhood ว่า โจทย์ในการปั้นโรบินฮูดจากทีมบริหารเมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา กับเงินก้อนแรก 1,500 ล้านบาทในการสร้างโรบินฮูดในเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับร้านอาหารและคนส่งอาหาร

นอกจากนี้ ทาง SCB จึงได้จัดตั้งบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ขึ้นมาใหม่ โดยมีคุณธนา ขึ้นมานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ และดึงพนักงานบางส่วนมาช่วยปั้นให้โรบินฮูดเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมเปิดให้บริการในวันนี้ (26 ตุลาคม 2563)

หลังจากได้รับโจทย์มาสิ่งแรกที่คิดคือการสร้างโรบินฮู้ดนี่จะทำแบบเล็กๆ ไม่ได้แล้ว เพราะประชาชนคุ้นเคยกับการใช้งานฟู้ดเดลิเวอรี่อยู่แล้ว ดังนั้น จำนวนร้านค้ากับคนขับในช่วงการเปิดตัวจะช้าไม่ได้ ทำให้วันนี้ที่เปิดตัวเรามีร้านอาหารในมือกว่า 16,000 ร้านค้า กับ 10,000 คนขับ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และได้ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ เป็นจำนวนร้านเพิ่มเป็น 30,000 ร้าน ส่วนไรเดอร์เป็น 15,000 คน

ทั้งนี้ หน้าที่ของโรบินฮู้ดคือการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างร้านค้ารายย่อยที่ไม่สามารถเข้าระบบออนไลน์หรือคนที่ใช้งานออนไลน์ไม่เป็น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ร้านค้าเข้าถึงช่องทางออนไลน์มากขึ้น

“ความแข็งแรงของ SCB คือเรามีพนักงานสาขาที่อยู่ในชุมชนและมีการเทรนนิ่งพนักงานเหล่านี้ให้ใช้งานเครื่องมือเป็น เราส่งพวกเขาไปตามหาร้านรายย่อย ถ่ายภาพ กรอกข้อมูล แนะนำบริการของเราให้แก่ร้านค้า ทำให้เราได้ร้านค้าที่ไม่เคยมีในโลกออนไลน์และบางร้านยังได้สิทธิพิเศษคือลดค่าอาหารอีก 8% ด้วยแต่ไม่ใช่ทุกร้านนะครับ ต้องแล้วแต่ความเต็มใจของทางร้านค้าด้วย”

จุดเด่นของโรบินฮู้ด

นอกจากนี้ เพื่อให้การเข้าไปมีตัวตนในมือถือของผู้ใช้งานจึงได้สร้างจุดเด่น 10 ข้อให้กับโรบินฮู้ด ประกอบด้วย

  1. ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม (จีพี) : เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายเล็กให้มีโอกาสเพิ่มรายได้หรือกำไรนอกจากการขายหน้าร้าน โดยไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่มเติมจากการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ลูกค้าได้รับอาหารที่มีคุณภาพราคาและปริมาณเดียวกับการซื้อที่ร้าน
  2. ช่วยเหลือและสนับสนุนร้านค้าในการนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ : มีทีมที่คอยดูแลช่วยเหลือร้านค้าโดยเฉพาะร้านเล็ก ๆ ที่อาจจะไม่มีความชำนาญในการใช้ แอปพลิเคชัน ให้สามารถเริ่มรับออเดอร์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ รวมไปถึงการช่วยเหลือในการสร้างความน่าสนใจให้แก่ร้านอาหารผ่านรูปเมนูที่สวยงามและการเขียนบรรยายอาหาร
  3. เงินสดเข้าร้านทันที : ร้านค้าได้รับเงินทันทีภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากที่อาหารและเครื่องดื่มส่งถึงบ้านลูกค้า ช่วยให้ร้านค้ามีสภาพคล่อง มีกระแสเงินหมุนเวียนในการต่อยอดและช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างราบรื่น
  4. ช่วยร้านค้าเพิ่มรายได้นอกช่วงเวลาขายดี (off-peak) : โดยปกติร้านค้าบนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีจะมีช่วงเวลาขายดีอยู่สองช่วง คือ มื้อกลางวัน (00 – 13.00 น.) และมื้อเย็น (17.00 – 19.00 น.) โดยช่วงเวลาที่เหลือนอกจากนั้น (off-peak) ยอดขายจะลดลง โรบินฮู้ดจึงได้นำเอา dynamic delivery pricing เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสทางการขาย ผ่านการกระตุ้นการสั่งอาหารด้วยราคาค่าส่งที่โดนใจทั้งวัน
  5. ส่วนลดจากร้านค้า 8% ทั้งปีทุกเมนู คืนกำไรให้ผู้บริโภค : ร้านค้าสามารถเลือกเข้าร่วมเพื่อมอบส่วนลด 8% ให้แก่ลูกค้าได้ โดยส่วนลดจะส่งต่อโดยตรงไปให้แก่ลูกค้า เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย คืนกำไรกลับสู่ลูกค้า และเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว (customer engagement)
  1. ใช้งานง่าย : โรบินฮู้ดให้ความสำคัญกับความต้องการและประสบการณ์การใช้งานที่ลูกค้าจะได้รับ จึงได้ออกแบบการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ให้สามารถทำได้อย่างง่าย ๆ ไม่เกิน 3 คลิก รวมถึงมีการนำ AI มาใช้ในการทำ Personalization เพื่อแนะนำร้านอาหารที่น่าสนใจ ตรงกับความชอบของลูกค้าแต่ละคน
  1. ผลักดันและสนับสนุนสังคมไร้เงินสด : เน้นการชำระเงินแบบไร้เงินสดด้วยระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลเพย์เมนต์ ที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกชำระค่าอาหารผ่านการตัดบัญชีใน SCB EASY หรือตัดบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน และได้รับประสบการณ์การชำระเงินแบบไร้รอยต่อ (seamless customer payment experience)
  1. สร้างงานสร้างรายได้ให้คนส่งอาหารหรือไรเดอร์ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม : คนส่งอาหารหรือไรเดอร์ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ไม่ต้องกังวลเรื่องการสำรองเงินสำหรับจ่ายค่าอาหารให้กับลูกค้า เมื่อรับงานส่งอาหารจากโรบินฮู้ดคนส่งอาหารจะได้รับประกันอุบัติเหตุและประกันโควิด-19 ฟรีถึงสิ้นปี 2563
  1. โครงการสร้างงานสร้างโอกาสให้กับผู้ที่สนใจส่งอาหาร : เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอาชีพคนส่งอาหารหรือไรเดอร์ให้กับผู้ที่ไม่มีจักรยานยนต์เป็นของตนเองในช่วงต้นปี 2564 โดยการให้เช่าจักรยานยนต์พร้อมการจ้างงานแบบรายวันจากพาร์ทเนอร์ของ โรบินฮู้ด
  1. ฟีเจอร์ใหม่ที่เตรียมพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในต้นปี 2564 : โรบินฮู้ดมีแผนที่จะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่และบริการเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าผู้ใช้งาน เช่น multiple order ที่ให้ลูกค้าสามารถทำการสั่งอาหารจากหลายร้านค้าได้โดยไม่ต้องรอให้ออเดอร์แรกเสร็จสมบูรณ์ multiple pick up ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลายร้านค้าในบริเวณใกล้เคียงกันในออเดอร์เดียว การนำคะแนนสะสมในบัตรเครดิตมาใช้ในการชำระเงิน การพัฒนา Robinhood wallet เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกในการจ่ายเงินในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น เป็นต้น

ทางด้านของ สีหนาถ ล่ำซำ กล่าวเสริมว่า การที่เราโฟกัสร้านค้ารายย่อย เพราะยังมีอีกกว่า 80% ในตลาดแต่แพลตฟอร์มยังหาพวกเขาไม่เจอทั้งหมด การที่เราดึงพนักงานที่ถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญไปค้นหาร้านค้าเหล่านี้ ทำให้เราได้ร้านค้าที่เรียกว่าเป็นช้างเผือกของกลุ่มร้านอาหารรายย่อยมาอยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งหลายร้านอาจไม่เคยมีมาก่อน

นอกจากนี้ สิ่งที่เรามุ่งหวังคือให้คนใช้จ่ายแบบ Cashless ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินสด เลือกได้ทั้งแบบตัดบัตรเดบิต บัตรเครดิต ตัดเงินจากบัญชี SCB EASY และในปีหน้าจะมีการจ่ายแบบวอลเลตได้ด้วย ถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ชำระเงินที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่

ส่วนการจ้างไรเดอร์นั้น บริษัทมีการพาร์ทเนอร์กับทาง Skootar ส่วนหนึ่งในการมาช่วยวิ่งงานในเส้นทางที่เรายังขาดและช่วยเทรนนิ่งพนักงานชุดแรกร่วมกับทีม HR ของทาง SCB แต่หลังจากนี้หากมีการรับสมัครพนักงานขับรถชุดใหม่เข้ามา ก็คงจะมีการอบรมภายใต้ทีมบริการของ SCB เพราะเราเชื่อว่างานบริการจะมีจุดละเอียดที่แต่ละบริษัทต้องอบรมกันขึ้นมาเอง

สุดท้าย คุณธนา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เราไม่ได้มีแผนว่าจะใช้งบการตลาดในการปั้นแบรนด์นี้ แต่เรามีการใช้งบในการทำ CSR ขององค์กรอยู่แล้ว เรายังเชื่อมั่นว่าหากบริการไหนมีสตอรี่ที่ดี จะกลายเป็น Word of mouth ได้เอง ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ทุ่มไปกับค่าพัฒนาแพลตฟอร์ม ค่าพนักงานและค่าใช้จ่ายการส่งบางส่วน ซึ่งเงิน 150 ล้านบาทที่เราลงทุนนี้ เป็นเพียง 10% ของงบการตลาดของคู่แข่ง แต่เราเชื่อว่าหากบริการของเราตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี ค่าส่งที่สูงกว่าคู่แข่งอาจไม่ใช่ปัญหา เพราะคุณภาพและปริมาณอาหารที่ร้านค้าส่งให้กับลูกค้าตรงไม่ได้มีปัญหา และถ้าอยู่ในระยะที่ใกล้มากๆ จะเริ่มต้นที่ 9 บาท แต่ค่าเฉลี่ยการส่งจะอยู่ที่ 20-40 บาทตามระยะทาง ซึ่งหากเป็นร้านค้าที่อยู่ไกลมากๆ ค่าส่งก็อาจแตะที่หลักร้อยขึ้นไปได้ ทำให้ไม่ว่าร้านเด็ดแค่ไหนถ้าคุณพร้อมจ่ายค่าส่ง ของอร่อยต้องถึงมือคุณอย่างแน่นอน