Site icon Thumbsup

โลกต้องฟัง!! Ryan Abbott ผู้จดสิทธิบัตรงานประดิษฐ์จากระบบ AI รายแรก

ต้องบันทึกว่า 1 สิงหาคมคือวันที่ Ryan Abbott ศาสตราจารย์ด้านกฏหมายลงมือจดสิทธิบัตรงานประดิษฐ์จากระบบ AI โดยที่ไม่ต้องพึ่งพามนุษย์เลยเป็นครั้งแรกของโลก การจดสิทธิบัตรครั้งนี้ต้องการสะท้อนปัญหาที่ยังถกเถียงกันว่าลิขสิทธิ์ของงานประดิษฐ์จากระบบ AI นั้นจะเป็นของใคร นำไปสู่อีกคำถามว่าที่สุดแล้ว หุ่นยนต์จะเป็นนักประดิษฐ์ได้หรือเปล่า?

การจดสิทธิบัตรครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงหลายปีหลังจากมีข้อถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพเซลฟี่ที่ลิงแสนรู้กดถ่ายรูปตัวเองด้วยกล้องของช่างภาพสัตว์ป่าโดยที่ไม่มีใครควบคุม เวลานั้นองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ป่า PETA ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลกลางเพื่อให้ลิงได้มีโอกาสถือครองลิขสิทธิ์ในภาพเซลฟี่ของมันเอง แต่ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินว่าสัตว์ไม่สามารถถือลิขสิทธิ์ใดได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เหตุการณ์นี้แสดงว่าหากลิงและสัตว์อื่นไม่สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ แล้วระบบปัญญาประดิษฐ์จะสามารถสร้างทรัพย์สินทางปัญญา ที่ได้รับการคุ้มครองได้หรือไม่?

Ryan Abbott จึงยื่นจดสิทธิบัตรใหม่ในสหราชอาณาจักร วัตถุประสงค์คือเพื่อค้นหาทางออกของกฏหมายลิขสิทธิ์ในยุคที่ AI มีบทบาทในการสร้างสรรค์มากขึ้นทุกที ความเคลื่อนไหวผ่านทีมงานระหว่างประเทศที่นำโดย Ryan Abbott ทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็นนักกิจกรรมด้าน AI ตัวยง โดยนักกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย University of Surrey ได้ยื่นคำร้องขอจดสิทธิบัตรครั้งแรกสำหรับสิ่งประดิษฐ์ 2 รายการที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยไม่มีมนุษย์ร่วมในการประดิษฐ์นั้นเลย

คิดถึงสิ่งที่คนอื่นไม่ทันคิด

Ryan Abbott ให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษว่าทุกวันนี้ ระบบ AI อยู่เบื้องหลังการเขียนหนังสือและถ่ายรูปมากมาย แต่ถ้าไม่ใช่มนุษย์ งานนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา ความจริงนี้อาจกระทบต่อโลกธุรกิจในอนาคตที่นับวัน AI จะมีอิทธิพลมากขึ้นทุกที

Abbott บอกว่าไม่ใช่ข้ออ้างที่เหมาะสมเลยสำหรับสำนักงานสิทธิบัตร ที่มองว่างานประดิษฐ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ล้วนไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิบัตร เพราะในอนาคต หากระบบ AI มีพัฒนาการขึ้นตามขั้นตอนเดียวกับที่มนุษย์สามารถคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ระบบทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดก็จะล้มเหลว และไม่สามารถปกป้องอะไรได้เลย

สิ่งที่ Abbott แนะนำคือ AI ควรได้รับการยอมรับว่าเป็นนักประดิษฐ์หรือ inventor และใครก็ตามที่เป็นเจ้าของ AI นั้นก็ควรเป็นเจ้าของสิทธิบัตร เว้นแต่จะมีการตัดสินใจขาย AI นั้นไป

อย่างไรก็ตาม Abbott ยอมรับว่าจะต้องมีการแก้ไขกฏหมาย และอาจต้องใช้เวลาศึกษาจนถึงกลางปี ​​2020 เพื่อแก้ไขความกังวลและหาทางออกถึงช่องโหว่ในกฏหมายสิทธิบัตรสุดซับซ้อนต่อไป เนื่องจากในทางกฏหมาย ผู้ที่เป็นนักประดิษฐ์ได้จะต้องเป็นคนที่มีส่วนร่วมสร้างแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งครอบคลุมความคิดหรือแผนที่วางไว้ แต่สิ่งที่เป็นในปัจจุบันและพัฒนาการทางเทคโนโลยีแสดงให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้ AI จะเป็นเครื่องมือที่นักประดิษฐ์มนุษย์เลือกใช้งาน โดยที่มนุษย์ไม่มีส่วนในแนวคิดนั้นเลย

AI ประดิษฐ์อะไร?

กรณีของ Abbott นักประดิษฐ์ AI ที่ศาสตราจารย์ Abbott ยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีให้นั้นมีชื่อว่า DABUS ผลงานของผู้สร้าง Stephen Thaler ที่เคยเป็นที่รู้จักกันดีเรื่องสร้างงานศิลปะเหนือจริง AI นี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความคิดใหม่ในหลากหลายมุมมอง จนถึงตอนนี้ ชุดของโครงข่ายประสาทที่ประกอบขึ้นเป็น DABUS นั้นมี 2 แนวคิดที่อาจคุ้มค่าต่อการจดสิทธิบัตร ได้แก่ “ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มรูปแบบใหม่โดยใช้รูปทรงเศษส่วน (รูปล่าง)” และ “อุปกรณ์ดึงดูดความสนใจ” ที่จะเป็นประโยชน์ในงานค้นหาและกู้ภัย

การยื่นขอสิทธิบัตรเทคโนโลยีให้ AI นั้นอาจเป็นสัญญาณบอกความเปลี่ยนของอุตสาหกรรมโลกในอนาคต เพราะทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรฐานการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และมีผลบังคับใช้ทางอุตสาหกรรม และ AI ได้ปฏิบัติตามแนวคิดที่เป็นพื้นฐานสำหรับการประดิษฐ์ทุกประการ ซึ่งหากไม่มีการกำหนดสิทธิบัตรคุ้มครองความคิดที่สร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ นักพัฒนา-นักวิจัย-วิศวกรรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง AI ระบบสร้างสรรค์เหล่านี้ก็จะสูญเสียความพยายามที่จะคิดค้นนวัตกรรมบนระบบต่างๆ

“การมอบสิทธิบัตรให้กับ AI จะเป็นการให้รางวัลกับทุกกิจกรรมที่เป็นนวัตกรรม และช่วยให้ระบบสิทธิบัตรสามารถส่งเสริมการประดิษฐ์ได้”

แม้ Abbott จะไม่ใช่คนแรกที่ยืนยันว่าคอมพิวเตอร์อาจเป็นนักประดิษฐ์ได้ แต่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรที่ระบุชื่อ AI ในฐานะนักประดิษฐ์ คาดว่าผลการพิจารณาจะเป็นต้นแบบในอีกหลายประเทศต่อไป

ที่มา: : FastCompany, BBC