Site icon Thumbsup

“ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล” มองเทรนด์ Digital Marketing แบรนด์จะทำงานร่วมกันมากขึ้น

ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ซีอีโอ Siri Venture และเจ้าพ่อสตาร์ทอัปเผยพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค Mobile-first จะนำไปสู่การทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของแบรนด์ต่าง ๆ มากขึ้น


เป็นมุมมองที่น่าสนใจสำหรับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลสำหรับเวทีสัมมนา GroupM FOCAL 2017 ซึ่งคุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ซีอีโอจาก Siri Venture หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงที่ได้ปรากฏตัวบนเวทีดังกล่าว ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ดังกล่าวเอาไว้ว่า

“เราทำเรื่อง Transformation มา 8 ปี เมื่อ Device มันดีขึ้น Network ดีขึ้น บริการแบบ on demand ก็เกิดตามมา ผู้บริโภคในยุคนี้เป็นยุคที่เราจะเสพอะไร เมื่อไรก็ได้ พฤติกรรมนี้ไม่ใช่แค่การเสพสื่อ แต่ดิจิตอลคือเครื่องมือที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งสำคัญคือเราต้องเป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพต่อการแข่งขันนั้น ๆ ให้ได้”

สำหรับแพลตฟอร์มของแสนสิรินั้น (Home Service Application) ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเกือบสองหมื่นคน ซึ่งล้วนแต่เป็นลูกบ้านของแสนสิริ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจับจ่าย และในอนาคตอันใกล้จะมีการขยายแพลตฟอร์มดังกล่าวให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้ใช้งานด้วย

“ความท้าทายของการตลาดคือ อย่ายึดติดกับฟอร์ม ถ้ายึดติดจะทำให้การก้าวไปขั้นต่อไปลำบากมากขึ้น แบรนด์ต้อง formless ต้องไม่ยึดติดกับมัน ในอีกไม่กี่ปี ผมเชื่อว่าคำว่าดิจิทัลจะหายไป เพราะมันจะ blend ไปกับชีวิต ญาติผู้ใหญ่ของผม เมื่อก่อนเคยบอกว่า อย่ามาพูดเรื่องสมาร์ทโฟนกับท่าน ใช้โทรก็พอแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ ท่านซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์บ่อยกว่าผมเสียอีก”

จากจุดนี้คุณชาคริตเผยว่า สิ่งที่คนทำงานต้องตระหนักให้มากคือดิจิทัลและ Tradition นั้นมีการ Blend ร่วมกันไปหมดแล้ว ดังนั้นการที่แบรนด์ยังมาแบ่ง มาแยกทีมทำงาน จะเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้การทำงานมากกว่านั่นเอง

“พอเรา formless มันจะนำไปสู่ borderless ที่ทำให้แบรนด์มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น และแบรนด์ไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่าง ปัจจุบันแบรนด์สามารถยิง notification ไปหาผู้ใช้งานของตนเองเพื่อจัดแคมเปญสักอย่าง อาจเป็นการแจกตั๋วชมภาพยนตร์ฟรี และดูการตอบรับ ลองทำสัก 2 -3 ครั้ง เราอาจพบว่า ในบรรดาผู้ใช้งานของเรา อาจมี 500 คนแล้วที่ชอบดูหนังแน่ ๆ เพราะร่วมกิจกรรมกับเราตลอด แต่แบรนด์ในอนาคตไม่จำเป็นต้องจัดการกับลูกค้าในกลุ่มนี้เอง เพราะหากส่งต่อข้อมูลนี้ให้กับผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์เพื่อให้เขาดำเนินการต่อ ก็จะเกิดเป็นนวัตกรรมจากการทำงานร่วมกันในลักษณะนี้มากขึ้น”

แผนการต่อไปสำหรับแสนสิริคือการทำงานร่วมกันในลักษณะดังกล่าว โดยในปี 2017 นี้จะมีการร่วมมือกับโรงพยาบาล ในการใช้งานข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ลูกค้าของแสนสิริเมื่อไปโรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลสามารถให้บริการแบบ Personalized ได้ ซึ่งเทรนด์เหล่านี้สามารถนำไปสู่บริการได้อีกหลากหลายประเภทในอนาคต

ทั้งนี้คุณชาคริตได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงความท้าทายของการทำตลาดในยุคต่อไปว่าอยู่ที่บรรดาสตาร์ทอัป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมนั้นต้องสามารถลดช่องว่างของ geek gap ลงให้ได้

“จุดตายของสตาร์ทอัปคือทำเทคโนโลยีได้ แต่ขายของไม่เป็น เขาจึงต้องเข้าหานักการตลาดให้มากขึ้น เพราะนักการตลาดเข้าใจลูกค้า รู้ว่าลูกค้าอยู่ตรงไหน และขายของได้ อนาคตต้องมีการทำงานระหว่างคนสองกลุ่มนี้ให้มากขึ้น แบรนด์จึงจะประสบความสำเร็จครับ”