Site icon Thumbsup

วิเคราะห์ตลาด e-Commerce ไทย ผ่านมุมมอง Shopee โดย “อากาธา โซห์”

อากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Shopee

แม้ในมุมของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ตลาด e-Commerce ไทยตอนนี้จะมองได้ว่าแข่งกันจนเดือด เต็มไปด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด แต่หากมองในมุมของอากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Shopee แพลตฟอร์ม e-Commerce กลับบอกว่าไทยนั้นน่าสนใจ และเป็นโชคดีที่ Shopee เข้ามาได้ถูกจังหวะ? อะไรคือความน่าสนใจนั้น อะไรคือจังหวะที่เหมาะสม และยังมีโอกาสอีกไหมสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในวันที่แบรนด์รีเทลยักษ์ใหญ่ลงมารุกตลาด เราอาจต้องไปติดตามมุมมองจากเธอคนนี้กัน

โดยสิ่งแรกที่แพลตฟอร์ม e-Commerce อย่าง Shopee พบผ่านการเปิดเผยของอากาธา โซห์ก็คือ กลุ่มมิลเลนเนียลที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปีซึ่งเป็นผู้ใช้งานกลุ่มหลักของแพลตฟอร์มนั้นชอบใช้ Social Media เช่น Facebook, Instagram รวมถึงการแชทเป็นชีวิตจิตใจ มากไปกว่านั้น เธอยังพบว่า คนไทยใช้ Social Media ไปกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าด้วย ความโดดเด่นในด้านนี้ของคนไทยทำให้แพลตฟอร์มที่มีการ Localized ระบบให้เข้ากับวิถีชีวิตดังกล่าว และออกแบบ Ecosystem ของระบบให้มีความคล้ายคลึงกับ Social Media ก็จะสามารถชิงผู้ซื้อผู้ขายไปอยู่บนแพลตฟอร์มได้มากขึ้นเท่านั้น

ปัจจัยที่สองคือการพบว่า กลุ่มมิลเลนเนียลในไทยเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงไม่น้อย ซึ่งต่างจากกับหลาย ๆ ประเทศรอบบ้านเรา (กลุ่มมิลเลนเนียลที่เป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักของ Shopee มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี) สินค้าขายดีจึงหนีไม่พ้นสินค้าด้านความงาม สินค้าแฟชัน เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ ขณะที่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น ทาง Shopee พบว่าการใช้จ่ายต่อบิลก็จะสูงกว่า จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละแพลตฟอร์มที่จะหาทางดึงดูดผู้ค้าและเตรียมสินค้าให้หลากหลายจะได้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม

นอกจากนั้น Shopee ยังมองว่า การที่แพลตฟอร์ม e-Commerce เปิดให้แบรนด์สินค้าเข้ามาเปิดหน้าร้านบนแพลตฟอร์มได้นั้น เป็นความท้าทายด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เสี่ยงต่อผู้ค้ารายย่อย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สามารถมองได้ว่า สภาพตลาดในลักษณะนั้นอาจทำให้ผู้ค้ารายย่อยมีการคิดหากลยุทธ์ใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถดึงดูดนักช้อปได้ด้วยก็เป็นได้ ซึ่งทางที่น่าสนใจจึงอาจเป็นการจัดคอร์สอบรมของแต่ละแพลตฟอร์ม ว่าจะให้ความรู้ความเข้าใจและสามารถเตรียมตัวผู้ค้าให้รองรับกับการมาถึงของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ได้อย่างไรนั่นเอง

O2O ยังไม่ใช่จังหวะของไทย

แต่ละตลาดมีคาแรคเตอร์ต่างกัน แต่เชื่อว่าหลายคนก็คงเกิดความสงสัยว่าในวันที่แพลตฟอร์ม e-Commerce ทั้งจากซีกโลกตะวันตกอย่าง Amazon และซีกโลกตะวันออกอย่าง Alibaba กำลังก้าวลงมาเล่นในตลาด Offline กันอย่างคึกคักนั้น แล้วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรจะทำอย่างไร ในจุดนี้ อากาธา โซห์มองว่า ยังไม่ใช่จังหวะของ e-Commerce ในภูมิภาคที่จะลงไปทำเช่นสองยักษ์ใหญ่ โดยเธอให้ความเห็นว่า ตลาดจีนและตลาดสหรัฐอเมริกานั้นเริ่มมีความเสถียรมากขึ้นกับการค้าแบบ e-Commerce ดังนั้น แบรนด์ยักษ์ใหญ่จึงต้องขยายตัวเองลงมาเล่นในตลาด Offline แต่สำหรับตลาดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาด e-Commerce ยังไปได้ต่อ จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่แพลตฟอร์ม e-Commerce ในไทยจะต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกันในอนาคตอันใกล้นี้

มากไปกว่านั้น การที่ยังไม่มีใครได้ครองตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญเช่นกันที่ทำให้ตลาด e-Commerce ในภูมิภาคนี้มีผู้เล่นจำนวนมากทยอยเข้ามาเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในฐานะผู้ซื้อและผู้ขาย นั่นหมายถึงว่า เรายังมีโอกาสได้เลือกแพลตฟอร์มอีกสักระยะเลยทีเดียว ว่าแพลตฟอร์มใดจะให้ประสบการณ์ในการซื้อขายบนโลก e-Commerce ที่ร้อนแรงนี้ได้ดีที่สุด