Site icon Thumbsup

Shopee ขึ้นแท่นแชมป์อีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไม่ใช่ Lazada หรือ Tokopedia แต่เป็น Shopee ที่สำนักข่าว Tech in Asia ยกให้เป็นแชมป์อีคอมเมิร์ซแห่งอาเซียน ทำให้ Shopee ถูกขนานนามเป็นราชาเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซคนใหม่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Shopee ในเครือบริษัทแม่ “Sea” นั้นเปิดตัวเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการใน 2015 ที่สิงคโปร์ และขยายไปยังประเทศมาเลเซีย, ไทย, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพียง 3 ปี วันนี้ Shopee สามารถแซง Lazada ของ Alibaba ที่เปิดบริการมาก่อน 3 ปีและ Tokopedia ของ Softbank ที่ปักธงมานานกว่า 6 ปี จุดนี้นักวิเคราะห์มองว่า Shopee ขึ้นสู่แถวหน้าของเวทีอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะกลยุทธ์เน้น mobile marketing บนการทุ่มงบการตลาดอย่างหนักเพื่อซื้อพื้นทีี่สื่อออฟไลน์และการจ้างพรีเซนเตอร์

ล่าสุด AppAnnie บริษัทวิเคราะห์ตลาดแอปพลิเคชันพบว่า Shopee คือแอปสำหรับช็อปปิ้งที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด แซงหน้า Lazada ที่นั่งอันดับ 2 ในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า Shopee มีมูลค่ายอดขายพุ่งทยานในไตรมาสที่สามของปี 2018 ที่ผ่านมา

จุดนี้ Shopee รายงานมูลค่าการขายสินค้ารวมหรือ gross merchandising value ไว้ที่ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเพิ่มขึ้น 153% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ทั้งหมดนี้ Shopee คาดว่าสถิติมูลค่าการขายรวมทั้งหมดจะเติบโตต่อไป เป็น 6,900-7,300 ล้านเหรียญ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าการขายอีคอมเมิร์ซโดยรวมที่งานวิจัย Google-Temasek เคยรายงานไว้

ความสำเร็จนี้ถูกมองว่าเป็นผลมาจากแนวทางหลักของ Shopee ที่เน้นการตลาดบนอุปกรณ์พกพา จนทำให้ Shopee มีอัตราการใช้งานบนอุปกรณ์มือถือที่สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดที่น่าสนใจคือแอป Shopee มีการพัฒนาแบบแยกต่างหากและแปลเป็นภาษาท้องถิ่นทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ จุดนี้ตรงกันข้ามกับแอปของ Lazada ที่ใช้แอปเดียวแต่ตั้งค่าให้เข้าถึงได้หลายประเทศ

รายงานระบุว่า Shopee ได้รับความนิยมในสินค้ากลุ่มแฟชั่น สุขภาพ และความงาม ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการใช้เวลาค้นหาผลิตภัณฑ์นานกว่าสินค้ากลุ่มอื่น ทำให้สถิติผู้ใช้ของ Shopee ต่างจากอีคอมเมิร์ซอื่น เนื่องจากสถิติชี้ว่า 58 ของลูกค้า Shopee เป็นเพศหญิง ต่างจากผู้ใช้ Lazada ที่ 57% เป็นเพศชาย

อย่างไรก็ตาม 1 ปีหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ของ Shopee บริษัทแม่อย่าง Sea Group ยังคงไม่ได้กำไร โดยธุรกิจ Shopee ยังขาดทุนเกือบ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่า Shopee ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 จะทำรายได้รวม 71.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 1,000% เทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2017

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะค่าใช้จ่าย ซึ่ง Shopee ย้ำว่าได้ลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลงแล้วจาก 9.7% ในปี 2017 เหลือ 5.7 ในปี 2018

ที่มา: : Tech in Asia