Site icon Thumbsup

รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจไม่แทรกแซงเงินดิจิตอล Bitcoin

bitcoin-reg-720x490

ธนาคารกลางสิงคโปร์หรือ Monetary Authority of Singapore (MAS) ยืนยันไม่เข้าแทรกแซงการรับรองเงินดิจิตอลอย่าง Bitcoin โดยเปิดเสรีให้ธุรกิจสามารถเลือกได้เองว่าจะยอมรับการจ่ายค่าสินค้าและบริการด้วยเงิน Bitcoin หรือไม่

สำนัก Tech in Asia รายงานว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ MAS นั้นส่งอีเมลชี้แจงต่อบริษัท Coin Republic ผู้ให้บริการระบบซื้อขายเงิน Bitcoin ในสิงคโปร์ ว่าไม่ว่าจะมีธุรกิจใดยอมรับการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงิน Bitcoin หรือไม่ องค์กรอย่าง MAS ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือควบคุม รวมถึงให้คำแนะนำใดๆ แน่นอนว่าการตัดสินใจเช่นนี้มีนัยสำคัญสูงมาก เพราะที่ผ่านมา สิงคโปร์นั้นมีดีกรีเป็นหนึ่งใน”ฮับการเงิน”หรือศูนย์กลางการเงินอันดับต้นของโลกที่กระจายตัวอยู่หลายภูมิภาคของโลก โดยสิงคโปร์ถูกวางตัวเป็นคู่แข่งของสวิสเซอร์แลนด์ในเรื่องตลาดธนาคารส่วนบุคคลที่ขยายตัวมากในสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแสดงจุดยืนว่าธนาคารกลางของประเทศอย่าง MAS จะไม่เข้าไปมีส่วนควบคุมหรือดูแลสกุลเงินเสมือน ดังนั้นคำประกาศล่าสุดที่ระบุว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซง Bitcoin จึงเป็นการแสดงจุดยืนเป็นกลางที่สวนทางกับการแสดงความเห็นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยหากย้อนไปช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา MAS ยังประกาศเตือนภัยให้ธุรกิจระวังความเสี่ยงในการซื้อขายเงินเสมือนที่ไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติอย่างเป็นทางการ

Bitcoin นั้นเป็นสกุลเงินเสมือนที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับการทำธุรกรรมบนโลกไอที บิตคอยน์ถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 โดยฝีมือการพัฒนาของเซียนคอมพิวเตอร์ผู้ลึกลับที่ใช้ชื่อว่าซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ล่าสุดบิตคอยน์เป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติความหมายไว้ในพจนานุกรมออคฟอร์ดว่า “สกุลเงินดิจิตอลในการทำธุรกรรมซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคารกลาง”

หลักการทำงานของบิตคอยน์ คือการเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่อยู่ภายใต้การดูแลของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จุดประสงค์ของบิตคอยน์ คือการลดบทบาทของธนาคารในการกำหนดค่าเงิน, การพิมพ์-แจกจ่ายธนบัตร และการบันทึกมูลค่าการโอน-ฝากเงิน ซึ่งแทนที่จะต้องให้ธนาคารเป็นผู้ดูแลการโอนเงินของผู้ใช้ แต่บิตคอยน์ออกแบบให้ชาว Bitcoin ทุกคนสามารถรับรู้และช่วยยืนยันการโอนเงินซึ่งกันและกัน ผ่านซอฟต์แวร์และไฟล์ข้อมูลเฉพาะทางที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ มูลค่าของเงินบิตคอยน์จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่คงที่ เนื่องจากการกำหนดค่าเงิน 1 บิตคอยน์จะเกิดจากการคำนวณผ่านกลุ่มบุคคลทั่วโลกที่อุทิศคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงของตัวเองเพื่อเปิดซอฟต์แวร์ของบิตคอยน์ให้ทำงานตลอดเวลา (คนกลุ่มนี้จะได้รับบิตคอยน์กลับมาให้ตัวเองเป็นการตอบแทน) โดยเงินบิตคอยน์นั้นสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงของประเทศต่างๆได้ หรือสามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ต (ล่าสุด 1 บิตคอยน์มีมูลค่าเกิน 1,000 เหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา)

การประกาศของ MAS เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนแสดงจุดยืนไม่ปลื้ม Bitcoin ต่างจากรัฐบาลเยอรมนีที่เปิดกว้างให้ Bitcoin ได้เติบโตอย่างเสรี ขณะที่นอร์เวย์นั้นไม่ถือว่า Bitcoin เป็นสกุลเงินแต่จะมีการเก็บภาษี ยังมีอกีหลายประเทศที่แสดงท่าทีต่อ Bitcoin แตกต่างกันไป

สิ่งที่เราจะได้รับจากข่าวนี้ คือการมองเห็นแนวโน้มของสกุลเงินดิจิตอลในโลกการค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งแม้จะยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ แต่ก็ถือเป็นข่าวที่ผู้ประกอบการทุกรายควรรับรู้

ที่มา: TechInAsia