Site icon Thumbsup

เอกชนขานรับ พลังประชารัฐ หนุน Smart City อย่างยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขานรับนโยบายรัฐ เร่งผลักดันพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอย่างยั่งยืน โดยให้เอกชนมีส่วนร่วมและลงทุนเพื่อพัฒนา Smart City ซึ่งจะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้เกิดการเชื่อมต่อ ปรับเปลี่ยน แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับ อันเป็นการจำกัดโอกาสในการลงทุน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้เทคโนโลยี การให้คำปรึกษาธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ การพัฒนา Smart Cityนั้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่าง อาทิ ปัญหาด้านงบประมาณในการขับเคลื่อนที่ไม่ต่อเนื่อง และการขาดผู้ดำเนินงานในระยะยาว ดังนั้นหากต้องการทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วย ซึ่งหลังจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดตัวโมเดลบริษัทพัฒนาเมืองเพื่อขับเคลื่อน Smart Cityก็เกิดจากการรวมตัวของคนในท้องถิ่นลงทุนจดทะเบียนบริษัทในรูปแบบโฮลดิ้งคอมพานีที่มีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง และหลังจากนั้นก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการและได้รับเสียงตอบรับมากมายจากเครือข่ายภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐเนื่องจากเป็นโมเดลพัฒนาเมืองในท้องถิ่นของตัวเองอย่างบูรณาการ ทำให้เกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกันผ่านพลังประชารัฐ ไม่รองบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณการ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล Thailand  4.0  ผ่านโครงการ Smart City นั้น ทางกระทรวงดีอีได้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาและวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การจัดทำโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟ ซึ่งตรงนี้คือจุดเริ่มต้น แต่การจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต้องอาศัยพลังประชารัฐหรือการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนที่เป็นคนในพื้นที่

ทั้งนี้ปัญหาการขาดผู้ลงทุนในระยะยาวเป็นจุดที่ทำให้เกิดการก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมือง หรือ การรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ของตนเองไปข้างหน้าและไม่ได้หวังพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากนักธุรกิจขอนแก่นที่ได้รวมตัวกันจดทะเบียนในชื่อว่าบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) ที่มีแนวคิดต้องการพัฒนาขอนแก่นให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศไทยในเรื่องของรายได้ระดับปานกลางและการรอคอยการพึ่งพาจากผู้อื่น โดยไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตนเอง โดยภายหลังการดำเนินการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองของขอนแก่น ก็เป็นที่มาให้จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ตพัฒนาตาม

ซึ่งบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง (พีเคซีดี) เกิดขึ้นครั้งแรกจากการรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น   25 คน ลงทุนจดทะเบียนเปิดบริษัทในทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยการบริหารในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้งคอมพานี ซึ่งประกอบด้วยหน่วยธุรกิจ (Business Unit)  12 หน่วยธุรกิจ และมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒน โครงการ Phuket Smart City ด้วย ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้ศึกษาการพัฒนาในหลาย ๆ มิติเช่น มิติเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม  การท่องเที่ยว การใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนด้านดิจิทัล

โดยมิติที่กล่าวมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการเป็นที่ปรึกษา การถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยี การส่งเสริมการลงทุนร่วมกับ BOI และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ทดลองนำร่องโครงการ Phuket Smart City และเมื่อมีการผนวกการทำงานร่วมกัน จะทำให้กลไกในการทำงานง่ายขึ้นเพราะเป็นการขยายผลต่อ

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าความต้องการของเมืองนั้นมีไม่สิ้นสุดและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่การลงทุนเพียง  1  ปีแล้วเลิกไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ จะนำงบประมาณจากที่ไหนมาลงทุน ดังนั้นงบประมาณจากภาคเอกชนจึงเป็นคำตอบที่จะทำให้กงล้อทั้งหมดหมุนได้

“รับชมปาฐกถา หัวข้อ “Smart City ที่ประเทศไทยต้องมี” โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายในงาน Smart City ประชารัฐพัฒนาเมือง”