Site icon Thumbsup

เลาะรั้วจุฬาฯ พาชม “Smart Parking” ด้วยเทคโนโลยี NB-IoT

จากที่อุบกันมาสองวัน ก็มาเฉลยแล้วว่า พื้นที่ที่ AIS จะมีการสาธิตการใช้งานเทคโนโลยี NB-IoT (NarrowBand IoT) ในรูปแบบ Smart Parking ก็คือ “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ภายใต้ความร่วมมือกับ Huawei นั่นเอง ซึ่ง AIS ยังถือเป็นหนึ่งใน Vision ของบริษัทที่ต้องรองรับการเติบโตของตลาด IoT ในปี 2017 ด้วย

ทั้งนี้การเปิดตัวดังกล่าวคงต้องเรียกว่า เป็นภาพของการรับไม้ต่อกันได้อย่างสวยงาม ตั้งแต่การสาธิตนวัตกรรม 5G ที่มี NB-IoT เป็นพระเอกคนหนึ่งในงานจากค่าย Ericsson เมื่อปลายเดือนมกราคม จนมาสู่การจุดพลุบริการ NB-IoT โดย AIS ในการแถลงวิสัยทัศน์ของบริษัทไปเมื่อช่วงบ่ายของวันวาน

โดยหนึ่งในไฮไลท์บนเวทีคือการถ่ายทอดสดจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมายังเวทีหลักที่สยามพารากอน โดยผู้ดำเนินรายการสาวได้สาธิตการใช้ Smart Parking ผ่านแอปพลิเคชันจองที่จอดรถภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์

ความสามารถของแอปพลิเคชันคือการทราบพิกัดของผู้ใช้งาน ว่าขณะนี้อยู่ตรงไหน และสามารถเลือกลานจอดรถที่ต้องการจองได้ โดยแอปพลิเคชันจะแสดงสถานะที่จอดรถได้ผ่านสีต่าง ๆ เช่น สีแดงคือมีรถจอดแล้วไม่สามารถจองได้ สีเหลืองคือมีคนจอง แต่ยังไม่มาจอด และสีเขียว คือทางสะดวก สามารถจองและมาจอดได้เลย 

เมื่อทำการจองเสร็จสิ้น ระบบจะสามารถนำทางไปยังจุดจอดรถที่จองไว้ได้โดยอัตโนมัติด้วย ผ่านบริการของ Google Maps

สำหรับอุปกรณ์ตรวจสอบว่ามีรถเข้ามาจอดแล้วหรือยังนั้นจะฝังอยู่ที่พื้นถนน ซึ่งก็คือโมเด็ม NB-IoT ที่มีข้อดีตรงที่เหมาะกับการจับสัญญาณของวัตถุที่อยู่กับที่มากกว่าวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่า และกระจายสัญญาณได้กว้างกว่านั่นเอง

นอกจากนั้นยังมีการสาธิตอุปกรณ์ Smart Tracking ที่สวมใส่ได้และแสดงพิกัดของผู้สวมแบบเรียลไทม์ ซึ่งอาจนำไปพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันสำหรับเด็ก – ผู้สูงอายุได้นั่นเอง (แน่นอนตลาดสัตว์เลี้ยงก็สนใจเทคโนโลยีดังกล่าวไม่แพ้กัน) 

ทั้งนี้ AIS มองว่า การรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวคือประตูสำคัญสู่การก้าวเป็น Smart Cities ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 โดยความสำคัญในปีนี้อยู่ที่ภาพรวมการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่มีแนวโน้มจะเติบโตถึง 300% โดยตลาดที่เติบโตมากที่สุดคือ Fix Broadband และกลุ่มการใช้งานของอุปกรณ์ IoT ที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ท่านใดที่อยากชมการใช้งานของระบบดังกล่าวก็สามารถเยี่ยมชมได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนท่านที่สอบถามมาว่าอยากใช้แอปพลิเคชันนี้ต้องทำอย่างไร จากการตรวจสอบพบว่า แอปพลิเคชันนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา และหากมีกำหนดการเปิดตัวที่ชัดเจน เราจะนำมารายงานให้ทราบต่อไปค่ะ