Site icon Thumbsup

วิจัยพบวัยรุ่นเปลี่ยนพฤติกรรม รับข่าวผ่านโซเชียลมีเดียแทนทีวี

NGXN7V7UDZ

ในขณะที่บ้านเรากำลังหาทางรอดให้กับทีวีดิจิทัลหลายสิบช่อง ทว่าในต่างประเทศ การรับชมรายการทีวีในกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นกำลังเสื่อมความนิยมลงอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 18 – 24 ปีหันไปบริโภคสื่อจากโซเชียลมีเดียกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การรับสื่อจากทีวีธรรมดา อยู่ที่ 24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ตัวเลขข้างต้นมาจากการทำสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 50,000 คนจาก 26 ประเทศที่จัดทำโดย YouGov (ได้แก่ นอร์เวย์ โปแลนด์ สวีเดน อิตาลี เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สเปน สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ โปรตุเกส แคนาดา เยอรมนี ฮังการี สาธารณรัฐเชค ออสเตรีย กรีซ และอังกฤษ) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนและระบบโทรคมนาคมที่รวดเร็วซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องนั่งรอตอนหนึ่งทุ่มเพื่อติดตามข่าวค่ำอีกต่อไป

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า สื่อรุ่นเก่าค่อนข้างปรับตัวได้ยากในยุคออนไลน์ เนื่องจากยังเคยชินกับการขายคอนเทนต์ ในขณะที่ยุคออนไลน์ คอนเทนต์ส่วนใหญ่เป็นการให้อ่านฟรี ซึ่งทำให้สื่อหลายหัวไม่เข้าใจ และไม่สามารถมองเห็นรายได้ที่มาจากช่องทางใหม่ ๆ เหล่านั้นได้ โดยสื่อที่ไม่สามารถปรับตัวสู่ยุคออนไลน์ได้จะส่งผลให้บริษัทโฆษณาปฏิเสธการลงโฆษณากับสื่อหัวนั้น ๆ และหันไปซื้อโฆษณากับสื่อที่มีโอกาสรอดมากกว่าแทน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังเผยถึงความยิ่งใหญ่ของ Facebook ในฐานะแพลตฟอร์มที่คนเข้ามาเสพข่าวสารต่าง ๆ มากเป็นอันดับหนึ่ง และตามมาด้วย YouTube, WhatsApp, Twitter และ Instagram ส่วน Snapchat ซึ่งถูกจับตาในฐานะแพลตฟอร์มของวัยรุ่นนั้นอยู่ในลำดับที่ 9 ของการสำรวจครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้บริโภคถึง 36 เปอร์เซ็นต์รู้สึกพอใจกับข่าวสารที่ตนเองได้รับผ่านโซเชียลมีเดีย แม้มันจะถูกคัดกรองโดยอัลกอริธึม โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามราว 30 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นตรงกันข้าม และยังต้องการให้มีบรรณาธิการคอยตรวจสอบ และเลือกข่าวมาใส่ในฟีดแทนที่จะเป็นระบบอัตโนมัติ

พฤติกรรมอีกประการหนึ่งที่พบว่าเปลี่ยนไปในหมู่ผู้บริโภคยุคใหม่ก็คือ การเสพข่าวผ่านสมาร์ทโฟน โดยเข้าไปอ่านจากโซเชียลมีเดีย แทนที่จะเข้าเว็บหรือเปิดแอปของสำนักข่าวนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งพฤติกรรมในข้อนี้จะทำให้สำนักข่าวต่าง ๆ สร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ให้เกิดกับลูกค้าได้ยากมากขึ้นไปด้วย

ที่มา BBC