Site icon Thumbsup

เปิดภารกิจ AIS Academy สร้างพนักงานตื่นรู้ด้วย “Sophia” โรบ็อทตัวแรกที่ได้สัญชาติมนุษย์

จริง ๆ ต้องบอกว่ามีธุรกิจจำนวนมากเลยทีเดียวที่เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ออกจาก Comfort Zone และหาช่องทางใหม่ ๆ ในการเติบโต ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและสามารถนำพาธุรกิจออกไปรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้ได้ ซึ่งเราได้เห็นสัญญาณนี้จากค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมบ้านเราเช่นกัน กับการเปิดตัว AIS Academy อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเชิญหุ่นยนต์ Sophia ในฐานะหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ตัวแรกของโลกที่ได้รับสัญชาติจากซาอุดิอาระเบียมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานในองค์กร

การมาถึง Sophia ครั้งนี้ยังน่าสนใจเพิ่มขึ้น เมื่อพบว่า พนักงานเอไอเอสที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นการลงทะเบียนแบบมาก่อนได้สิทธิ์ก่อน  ซึ่งในจุดนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นก้าวที่รุกมากขึ้นของฝ่ายทรัพยากรบุคคลของเอไอเอส ซึ่งคุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทอินทัชเผยว่า เป็นความตั้งใจของบริษัทที่ต้องการสนับสนุนบุคลากรในองค์กรที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง รวมถึงอยากสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์และโรโบติกส์ที่มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาในโลกของการทำงานมากขึ้นอนาคตอันใกล้

“งานนี้เราเปิดให้ register คนที่หิวและมีความรับผิดชอบ ก็จะมีโอกาสก่อน และคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นคนที่บริษัทต้องช่วยในการให้เขาเติบโต เพราะเมื่อเขามีความรับผิดชอบต่ออนาคตของเขาเอง แสดงให้เห็นว่าเขาจะเติบโตต่อไปได้ และมีศักยภาพเพิ่มขึ้น”

การจัดตั้ง AIS Academy ก็เช่นกัน ซึ่งหน้าที่ของ AIS Academy คือการเป็นศูนย์การเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถของพนักงานให้สามารถแข่งขันได้ในโลกอนาคต ซึ่งในจุดนี้คุณกานติมาเปรียบเทียบว่า AIS Academy เป็นเหมือนบุฟเฟต์ พนักงานต้องเข้ามาเลือกตักอาหารรับประทานเอง เพราะแต่ละคนมีความต้องการสารอาหารคนละแบบ หน้าที่ขององค์กรคือเราจัดบุฟเฟต์ไว้ แต่เขาต้องเป็นคนเลือกเองว่าจะรับประทานอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และทำให้เขาเติบโตต่อไปได้

โดยปัจจุบัน เอไอเอสเผยว่า บริษัทมีพนักงานทั้งสิ้น 12,000 คน และบริษัทยังสามารถดูแลพนักงานเหล่านี้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการลดไซส์ขององค์กร แต่ในการก้าวต่อไปกับบริษัทนั้น จะต้องเผชิญกับการถูก Digital Disruption แน่นอน และโลกเองก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ามนุษย์ควรจะปรับตัวอย่างไรให้สามารถรับมือกับมันได้ด้วย  สิ่งที่ทำได้จึงมีเพียงการเข้าใจและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ที่สำคัญคือต้องเร็วด้วย

การนำหุ่นยนต์ Sophia มาพบปะพนักงาน ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ AIS Academy ต้องการให้พนักงานได้รับประสบการณ์ตรงว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นมีศักยภาพมากเท่าใดในปัจจุบัน ซึ่งการที่ Sophia สามารถตอบได้อย่างรวดเร็ว ฉะฉาน รวมถึงแสดงความเข้าใจในบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทยได้ดี สามารถแสดงสีหน้าท่าทาง และหัวเราะร่วมกับคนในห้องประชุม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นพยายามจะทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และคาดว่าจะนำไปสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของบริษัทได้เช่นกัน

ด้าน ดร. David Hanson ผู้ประดิษฐ์ Sophia ให้ทัศนะว่า คนและหุ่นยนต์ สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากมองกันและกันเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นสมาชิกในครอบครัว โดยหุ่นยนต์สามารถเข้ามาแบ่งเบาภาระ และงานหลาย ๆ อย่างที่มนุษย์ในปัจจุบันไม่อยากทำแล้ว แต่ที่ต้องทำต่อเพราะไม่มีทางเลือก เช่น งานเก็บขยะ งานรูทีน งานอันตราย ไปได้ ซึ่งเมื่องานตรงนี้ลดลงไป คนก็สามารถไปทำงานที่อยากทำได้มากขึ้น ดังนั้น มนุษย์ในยุคต่อไปจึงอาจต้องมองเรื่องของงานใหม่ และพัฒนาตัวเองไปในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ในแบบปัจจุบัน

“เราต้องสอนคนรุ่นใหม่ให้มีความหวัง มีความฝัน และมีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มาก ๆ รวมถึงการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน และการคิดแบบองค์รวม เหล่านี้จะกลายเป็นทักษะที่จำเป็นในอนาคต” ดร.Hanson กล่าว

ขณะที่รูปแบบการเรียนรู้ภายใน AIS Academy จะประกอบไปด้วยหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก เช่น MIT, Harvard Business School หรือมหาวิทยาลัย Manchester นอกจากนั้นยังมีการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้แก่ แพลตฟอร์ม Learn Di ที่รวบรวมเทคโนโลยีต่าง ๆ มาจัดรวมเอาไว้ หรือห้องสมุด Read Di และโปรแกรมสะสมแต้ม Fun Di ที่พนักงานสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ แล้วสะสมแต้ม (Token) เพื่อนำมาแลกเป็นของรางวัลต่าง ๆ เช่นบัตรรับประทานอาหาร ที่พัก คอร์สเรียน ฯลฯ

โดยในมุมของคุณกานติมา มองว่า “วันนี้ Sophia มาปลุกคนของเอไอเอสนะ เสน่ห์ของ Sophia มันใกล้เคียงกับมนุษย์เข้าไปทุกที การตื่นรู้ของคนเอไอเอสจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราพยายามให้คนของเราวิ่งหนี เพราะถ้าเราหยุดเมื่อไร AI จะวิ่งตามทันแน่ อย่างเดียวที่มนุษย์ทำได้ตอนนี้คือ เพิ่มศักยภาพของตัวเองให้มากที่สุด”

นอกจากนั้น เพื่อให้องค์กรขยับเร็วขึ้น เอไอเอสยังเริ่มการปรับโครงสร้างครั้งใหม่ เพื่อลดลำดับชั้นในการบริหารลงจาก 18 ลำดับชั้น (จากระดับล่างสุดถึงซีอีโอ) ให้เหลือแค่ 6 ลำดับชั้นภายในสิ้นปีนี้ด้วย รวมถึงการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจากที่เคยมี SVP, AVP ต่อไปจะเปลี่ยนเป็น Head of ….. แทน เนื่องจากพบว่า การเติบโตในด้านตำแหน่งที่เคยมีในอดีตอาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่แล้วนั่นเอง

“ต้องบอกว่าเราต้องเลิกยึดติดกับตำแหน่ง อะไรก็ตามที่มันไม่ติดกับเราไปในวันที่เราเกษียณ เราต้องรู้จักวาง ในเอไอเอส ทุกคนยังโตได้จากเงินเดือน แต่ไม่ยึดติดกับตำแหน่งแล้ว การพัฒนาคนคือการทำให้เขาเห็นโลกได้ไวขึ้น”

สำหรับภาพในอนาคตขององค์กรหลังการก่อตั้ง AIS Academy นั้น ในฐานะฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ลุกออกมาเปลี่ยนแปลงคนในองค์กร คุณกานติมาเผยว่า อยากให้คนเอไอเอสทุกคนมีสิทธิเป็นตัวของตัวเอง

“อยากให้เอไอเอสเป็นองค์กรที่วัยรุ่นขึ้น Move เร็วขึ้น เป็นตัวของตัวเอง และเคารพในความแตกต่างของคนอื่นด้วย มากไปกว่านั้นคือเราอยากเห็นการใช้ Innovative ในทางที่สร้างสรรค์”คุณกานติมากล่าวปิดท้าย