Site icon Thumbsup

ภาวะโลกร้อน ทำขั้วโลกใต้รวน ส่งผลให้ดอกไม้บานเพิ่มขึ้น

เราจะทำอย่างไร เมื่อทวีปแอนตาร์กติกา ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ระบบแอร์ของโลก’ กำลังศูนย์เสียบริเวณที่หนาวเย็นที่สุดในโลกไป เนื่องจากภาวะโลกร้อน

จากผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินซูเบรีย ในประเทศอิตาลี ได้ระบุว่า พวกเค้ามีความกังวลต่อแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ของโลกที่กำลังละลายตัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากภาวะโลกร้อน

โดยทำการศึกษาจำนวนพืชพื้นถิ่นของแอนตาร์กติกา 2 ชนิด คือ หญ้าขนแอนตาร์กติก (Deschampsia Antarctica) และ เพิร์ลเวิร์ตแอนตาร์กติก (Antarctic Pearlwort) บนเกาะซิกนีย์ ระหว่างปี 2009-2019 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับช่วง 50 ปีก่อนหน้านี้ (1960-2009)

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมายังตรวจพบคลื่นความร้อนในทวีปแอนตาร์กติกา ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส และ ส่งผลให้ สัตว์ถึง 65% ในทวีปแอนตาร์กติกา เช่น แมวน้ำขน รวมถึงเพนกวินจักรพรรดิ มีจำนวนลดลง

ทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ขั้วโลกใต้ ได้ชื่อว่ามีอุณหภูมิต่ำที่สุดบนพื้นโลก -93.2 องศาเซลเซียส จึงเปรียบเสมือน ‘ระบบแอร์โลก’ โดยทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมให้กับโลกผ่านกระบวนการไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่น และกระแสน้ำเย็น

จากผลสำรวจดังกล่าวนักวิจัยคาดการณ์ว่าคลื่นความร้อนจะสูงขึ้นอีกประมาณ 5 – 6 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ และส่งผลกระทบกระจายไปทั่วโลก