Site icon Thumbsup

3 บทเรียน PR จากกรณี Starbucks Unicorn Frappuccino

สัปดาห์นี้ เชนกาแฟระดับโลกอย่าง Starbucks ทำฝันของสาวกยูนิคอร์น (และคอน้ำหวาน) ให้เป็นจริงด้วยการเปิดตัวเครื่องดื่มรุ่น limited ในชื่อ “Unicorn Frappuccino” ดราม่าและกระแสร้อนแรงของเครื่องดื่มสุดแหววนี้นำไปสู่บทเรียนสำคัญ 3 เรื่องที่พีอาร์มืออาชีพทุกคนควรรู้

สำหรับ Unicorn Frappuccino นั้นเป็นเครื่องดื่มที่ถูกกำหนดวางจำหน่ายในวันที่ 19-23 เมษายนนี้เท่านั้น Frappuccino รสชาติใหม่รสชาติแรกของ Starbucks ประจำปีนี้ได้รับแรงบัลดาลใจจากอาหารและเครื่องดื่มธีมสียูนิคอร์นที่เป็นกระแสร้อนแรงมากบนโซเชียลมีเดีย เพื่อกระตุ้นยอดขายที่หดตัวลงในปีที่แล้ว

รสชาติของ “น้ำยูนิคอร์น” แก้วนี้ถูก Micheline Maynard นักเขียนของ Forbes วิจารณ์ว่ามีรสชาติเหมือนงานปาร์ตี้เด็กซน มีทั้งหวาน ทั้งเปรี้ยว แถมเมื่อดื่มแล้วยังมีผงระยิบระยับสีชมพูติดไปทั่วมืออีกต่างหาก

1. ทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

หากใครกำลังทำ PR ให้สินค้าหรือบริการใด การทำให้บริการนั้นมีบริการใหม่ที่เอ็กซ์คลูซีฟหรือพิเศษขึ้นในเวลาจำกัด ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยดึงแบรนด์ให้วัยรุ่น generation Z หันมาสนใจได้ดี ขณะเดียวกันก็ยกระดับภาพลักษณ์ความสร้างสรรค์ของแบรนด์ได้

2. เข้าใจพนักงาน

แม้ว่าหลายคนจะชื่นชมรสชาติของ Unicorn Frappuccino แต่ดูเหมือนพนักงานของ Starbucks กลับไม่ปลื้มนัก ดราม่านี้เกิดขึ้นในรายงานของสำนักข่าว Us Weekly ที่ยกกรณีของ Braden Burson พนักงาน Starbucks ในโคโรลาโดที่ระบายความอึดอัดใจผ่าน Twitter เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

พนักงาน Starbucks รายนี้ระบุว่าเครื่องดื่มนี้ผสมยากมาก เมื่อมีลูกค้าสั่ง Unicorn Frappuccino ทีไร มือทั้งสองข้างจะเหนียวหนึบไปหมด รวมถึงเส้นผมและจมูกที่เต็มไปด้วยละอองกลิ่นของ Unicorn Frappuccino วิดีโอของ Burson ที่ขอให้ลูกค้าอย่าสั่ง Unicorn Frappuccino นี้ถูกลบในเวลาต่อมา

ไม่รู้ว่าชะตากรรมของ Burson ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเกมการตลาดของ Starbucks จะเป็นอย่างไร แต่มีรายงานว่าพนักงานรายอื่นของ Starbucks ก็รู้สึกไม่ต่างกัน พนักงานที่ขอให้ไม่ระบุชื่อ ยอมรับกับสำนักข่าว Willamette Week ว่าน้ำยูนิคอร์นมีขั้นตอนการทำและส่วนผสมที่มากเกินไป

ฉะนั้น PR ที่ดีจะต้องไม่ลืมที่จะทำความเข้าใจกับพนักงานในองค์กร ว่าเหตุใดจึงต้องทำแคมเปญนี้ขึ้นมา วิธีนี้จะสามารถป้องกันเสียงบ่น ซึ่งนำไปสู่ “toxic company culture” ที่เป็นพิษกับองค์กร

3. โหมกระแสชม

ทันทีที่มีการโพสต์ชม Unicorn Frappuccino บน Twitter ทีมงานโซเชียลของ Starbucks ลงมือ retweet และโต้ตอบกับลูกค้าตัวจริงอย่างจริงจัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือสาวกตัวจริงแทบทุกรายเต็มใจที่จะ share เรื่องราวนี้ให้เพื่อนและครอบครัวฟัง ซึ่งทำให้ online followers หลายพันรายได้รับรู้เรื่องราวนี้ด้วย

PR ที่ดี จึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสโหมกระแสลักษณะนี้หลุดลอยไป โดยที่ไม่ทันได้ต่อยอดเสียก่อน.

ที่มา: PR Daily