Site icon Thumbsup

ความท้าทายของภาครัฐและภาคการศึกษา ท่ามกลางวิกฤตแรงงานไทยในยุคโควิด-19

ในวันที่ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายองค์กรปรับลดพนักงาน ปรับลดเงินเดือน ตำแหน่งงานลดลง รวมถึงเด็กจบใหม่อีกราว 5 แสนคนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งการแข่งขันจะสูงขึ้นไปอีก

ภายในงาน AIS Academy for Thais: JUMP THAILAND ได้เชิญชวนภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ เจาะประเด็นนวัตกรรม ทักษะอาชีพ และการพัฒนาตัวเอง เพื่อกระโดดข้ามวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้

ใน Panel Session : JUMP THAILAND ได้รับเกียรติจากคุณชาคริตย์ เดชา รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วม แบ่งปันมุมมองของทั้งภาครัฐและภาคการศึกษา

การอัปสกิล รีสกิลบุคคลากรในภาครัฐ

คุณชาคริตย์ : กรมพัฒนาแรงงานทำหน้าที่พัฒนาคนที่อยู่ในตลาดแรงงาน และดูแลคนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน 5 ปีแรกได้ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาคนเข้าไปใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การแพทย์ครบวงจร เป็นต้น

นโยบายขับเคลื่อนประเทศของภาคการศึกษา

ศ.ดร.สุชัชวีร์ : 2 ตัวแปรหลักที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศสู่ประเทศมหาอำนาจมี 2 ปัจจัย 1. ปริมาณ ประเทศที่มีปริมาณจะสามารถก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจได้ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล รวมถึงอินโดนีเซีย อินโดนีเซียมีนักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 5 ล้านคนต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนเพียง 4-5 แสนคนต่อปีและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น ปริมาณเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยไม่มี

2. คุณภาพ หากไม่มีปริมาณก็ควรมีคุณภาพ หลายประเทศมีประชากรน้อยแต่สามารถส่งออกนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทยว่าจะพัฒนาคุณภาพอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่ามีศักยภาพพอ

ปลดล็อกตัวเองจากสายวิทย์-สายศิลป์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ : ประเทศไทยในตอนนี้ในหลักสูตรการเรียนยังมีการแบ่งสายวิทย์และสายศิลป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ไม่ทำกันแล้ว ทักษะที่ขาดคือการผนวกระหว่างวิทย์และศิลป์ ถ้าเราเป็นวิศวกรที่คำนวณเก่งแต่ไม่เข้าใจความสวยงามของการออกแบบก็ประสบความสำเร็จได้ยาก ดังนั้น คนที่อยู่สายวิทย์อย่าทิ้งภาษา คนที่อยู่สายศิลป์อย่าทิ้งคำนวณ เลิกสะกดจิตตัวเองให้จำกัดทักษะ เพราะโลกสมัยใหม่มีการบูรณาการความรู้ข้ามสาย ต้องการคนที่มีความสามารถจบทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว

ความท้าทายของภาครัฐและภาคการศึกษา

คุณชาคริตย์ : ความท้าทายสำหรับภาครัฐอย่างแรกคือต้องการ Big Data หากทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรมี Big Data ที่เชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน หากเราสามารถทำได้จะสามารถแก้ปัญหาได้มากมาย ขาดแรงงานทักษะไหน หน่วยงานไหนต้องการคนเพิ่มก็สามารถรู้ได้ทันที

อย่างที่สองคือการเปิดแพลตฟอร์มในการพัฒนาคน อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าราชการมีขีดจำกัดด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านงบประมาณ มีขั้นตอนเยอะ ทำให้ตอนนี้ยังทำได้ไม่สำเร็จ แต่เชื่อว่าในอนาคตเราจะทำได้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ : ภาคเอกชนมักจะบอกว่าเด็กที่จบไปไม่อดทน ภาษาอังกฤษไม่ดี ทักษะไม่ได้ แต่กลับไม่มาช่วยกันพัฒนานักศึกษาด้วยกัน ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงภาคเอกชนให้มาช่วยกันพัฒนาหลักสูตร พัฒนาอาจารย์ พัฒนานิสิตนักศึกษา แล้วผลลัพธ์จะตอบแทนให้กับทุกฝ่าย

สรุปรวมใน Panel Session : JUMP THAILAND ผ่านการแบ่งปันมุมมองของทั้งภาครัฐและภาคการศึกษาแล้ว พบว่าการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาอาจเป็นทางออกของตลาดแรงงานในยุคโควิด-19 เพราะกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ส่วนภาคเอกชนก็มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ การร่วมมือกันจะช่วยให้ภาคการศึกษาสามารถพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มีทักษะความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานได้มากยิ่งขึ้น