Site icon Thumbsup

สรุปประกาศข้อกำหนดและข้อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 1

หลังจากการประกาศการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก ฉุกเฉิน วันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังคับใช้แล้ว! มีข้อห้าม ให้ และควรปฏิบัติอะไรบ้าง สามารถสรุปสาระสำคัญแบบเข้าใจง่ายๆ ได้ ดังนี้

“ห้าม”

1.ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยง ต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19 ตามข้อบังคับ

2.ห้ามกักตุนสินค้า ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้าซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ําดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จําเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน

3.ห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุม ในสถานที่แออัดหรือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

4.ห้ามเสนอข่าวบิดเบือน ห้ามการเสนอข่าวหรือทําให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ อันไม่เป็นความจริงและทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

“ให้”

1.ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค สนามมวย ผับ สถานบริการ สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และศาสนสถาน

2.ให้เปิดทำการสถานที่จำเป็น เช่น โรงพยาบาล ร้านขายยา โรงแรม ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาเก็ต และธนาคาร

3.ให้ปิดการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก น้ำ และอากาศ

4.ให้อำนาจแก่ผู้ว่าทุกจังหวัด สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้กํากับการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ

“ควร”

1.กลุ่มเสี่ยงควรอยู่ในเคหสถาน ได้แก่ผู้สูงอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป เด็กต่ำกว่าห้าปีลงมา และบุคคลที่มีโรคประจำตัว

2.งดหรือควรชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด กรณีจําเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ต้องรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการที่ ทางราชการกําหนด

 

ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษตาม มาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงโทษตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่มา สำนักนายกรัฐมนตรี