Site icon Thumbsup

ฉันหยุดแล้ว แล้วเธอหยุดได้ไหม? เมื่อทำงานวันหยุดทำร้ายคุณมากกว่าที่คิด

วันหยุดที่ไม่ได้หยุด เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องตอบอีเมลลูกค้า หัวหน้าสั่งงานไว้ก็ต้องทำ แถมลาหยุดก็ยังมีงานติดตัวไปด้วย แต่รู้หรือไม่การทำงานในวันหยุดส่งผลเสียต่อชีวิตมากกว่าที่จะเสียแค่เวลาพักผ่อน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Oxford พบว่าการใช้เวลาในวันหยุดเพื่อทำงานเป็นปัจจัยร้ายแรงที่สุดที่ทำลายแรงจูงใจภายใน (ความสนใจ แรงผลักดัน ทัศนคติที่ดี) ซึ่งโดยปกติแรงจูงใจภายในจะเกิดขึ้นเมื่อคนเราได้ทำในสิ่งที่รักและเพลิดเพลินไปกับมันหรือเรียกง่ายๆ ว่า “Passion”

ทำงานวันหยุดกับแรงจูงใจภายใน

จากผลสำรวจพนักงานในสหรัฐกว่า 1,298 คน โดยแยกปัจจัยภายนอกอย่างระดับตำแหน่งงาน, รายได้ และการศึกษา พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานในวันหยุดและแรงจูงใจภายในอย่างมีนัยสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานที่ต้องทำงานในวันหยุดหรือนักเรียนที่ต้องเรียนในช่วงปิดเทอม ผลสำรวจพบว่าคนทั้งสองกลุ่มมีแรงจูงใจในการทำงาน/เรียนลดลง

เนื่องจากคนทั่วไปจะจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบว่าวันจันทร์คือวันเริ่มต้นสัปดาห์ทำงาน ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนอย่างชัดเจน

ขณะที่การทำงานในวันหยุดทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างความคาดหวังและความเป็นจริง ผลคือคนเราจะมีความสุขลดลงและงานมีความหมายน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว

หากต้องทำงานวันหยุดควรทำยังไง?

แต่ในปัจจุบันก็มีอาชีพหลากหลาย บางคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานวันหยุด แล้วเราควรทำยังไงให้ยังมีแรงจูงใจภายในเมื่อต้องทำงานหลังเลิกงาน? งานวิจัยพบว่าวิธีที่ดีที่สุดคือติดป้ายกำกับว่า “เวลาทำงาน”

งานวิจัยได้ทดลองแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม แล้วบอกกลุ่มแรกว่า “คนส่วนใหญ่ใช้วันหยุดเพื่อทำงานให้ทันหรือปั่นงาน” และบอกกลุ่มที่สองว่า “คนส่วนใหญ่ใช้วันหยุดเพื่อพักผ่อนและหยุดทำงาน” ผลที่ออกมาคือคนกลุ่มแรกรู้สึกสนใจและมีส่วนร่วมกับการทำงานมากขึ้นเพราะคิดว่าเป็นการทำงานในช่วงเวลาที่ต้องทำงาน

ดังนั้น หากต้องทำงานในวันหยุดจริงๆ ก็ลองปรับเปลี่ยนความคิดว่านี่เป็นเวลาทำงานเพื่อช่วยรักษาแรงจูงใจในการทำงาน สำหรับหัวหน้างานเองก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกน้องทำงานในวันหยุดเพื่อรักษาประสิทธิภาพในการทำงาน

ทั้งนี้อย่าลืมว่าแรงจูงใจภายในเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงผลักดันในการทำงาน ยังมีแรงจูงใจภายนอกที่ต้องให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน สภาพแวดล้อม ความก้าวหน้า รวมถึงความมั่นคงในหน้าที่การงาน เพราะการรักษาแรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญเสมอ

อ้างอิง Oxford, HBR