Site icon Thumbsup

ถึงเวลาคุยเรื่อง “ภาษี” ก่อนก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

คุณโรเบิร์ต เคปป์ ผู้อำนวยการ อีซีเอ็น สาขาฮ่องกง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นโยบายด้านภาษีได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะเราอยู่ในยุคที่มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเข้ามาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และรัฐบาลเองก็ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในบริบทของเศรษฐกิจดิจิทัล ประเด็นเรื่องภาษีก็ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ทาง The Economist Corporate Network (ECN) ผู้ให้บริการด้านการทำวิจัยทางธุรกิจ การจัดบรรยายและเสวนา ภายใต้ดิ อีโคโนมิสต์ กรุ๊ป ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “Taxing times: ความสัมพันธ์ระหว่างภาษี การลงทุนขององค์กร เศรษฐกิจดิจิทัล และภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาค” ขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้มีผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของนโยบายภาษีที่มีต่อบริษัทและองค์กรสาธารณะในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

นายโรเบิร์ต เคปป์ ผู้อำนวยการ อีซีเอ็น สาขาฮ่องกง กล่าวว่า “นโยบายด้านภาษีเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอีซีเอ็นไม่ได้สนับสนุนนโยบายรูปแบบใดๆ แต่เราต้องการจะให้ข้อมูลที่มีประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเสริมความเข้าใจที่รอบด้านขึ้น โดยข้อสังเกตหลักๆ จากคำแนะนำขององค์กรด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลระดับโลก เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี และผลสำรวจความคิดเห็นของผู้นำในธุรกิจดิจิทัลก็คือ อัตราภาษีของแต่ละประเทศถูกมองว่ามีความสำคัญน้อยกว่านโยบายด้านภาษีที่มีความแน่นอนและการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งล้วนมีเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศในหลากหลายภาคส่วนมากขึ้นทุกวันๆ นั้น ไม่เห็นด้วยกับการแยกจัดเก็บภาษี (ring-fence) หรือการกีดกันบริษัทที่อยู่ในภาคดิจิทัล เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสในการขยายกิจการ ตลอดจนเป็นผลเสียต่อการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศ ในขณะที่หลายบริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยทางภูมิศาสตร์การเมือง และเห็นว่าธุรกิจของตนตกอยู่ภายใต้กลยุทธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสนธิสัญญาและข้อตกลงด้านภาษีน่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ดีกว่า”

นายโฮซุก ลี-มากิยามา

ในทางเดียวกัน นายโฮซุก ลี-มากิยามา ผู้อำนวยการ สถาบันเศรษฐกิจการเมืองนานาชาติแห่งทวีปยุโรป กล่าวว่า “ความเชื่อที่ว่าบริษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีจ่ายภาษีน้อยกว่าบริษัทในประเทศนั้นไม่เป็นความจริง แต่โดยแท้จริงแล้วธุรกิจข้ามชาติเหล่านั้นจ่ายภาษีส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของตน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลพยายามจะแก้กฎหมายภาษีเพื่อบีบให้บริษัทข้ามชาติจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับว่าผู้ส่งออกผ้าของไทยก็ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในตลาดส่งออกของตน แทนที่จ่ายภาษีให้กับประเทศไทย และในฐานะประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าการนำเข้า ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ไปโดยอัตโนมัติ”

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ พาร์ทเนอร์และประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด สาขากรุงเทพฯ ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปกฎหมายภาษีอย่างมีประสิทธิภาพว่า “ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพูดคุยในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายภาษีที่ครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เพียงการแก้กฎหมายเป็นจุดๆ ไป นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราภาษีและสิทธิประโยชน์ทางภาษีสามารถช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือนโยบายที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ทั้งบริษัททั้งดั้งเดิมและดิจิทัลมีการจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมให้กับประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจและก่อให้เกิดรายได้”

“เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิทัล โดยบทวิเคราะห์ล่าสุดจาก ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ระบุว่า อัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรของประเทศไทยนั้นสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่มีคุณภาพ และมีประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน ซึ่งถือเป็นสภาพภูมิประเทศที่ส่งผลดีเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นเกาะ เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ E-Commerce ของประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาการลงทุนและร่วมทุนจากต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยหากนโยบายด้านภาษียังไม่มีความโปร่งใส่ แน่นอน และเป็นธรรมต่อธุรกิจดิจิทัล ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายโรเบิร์ตกล่าวสรุป