Site icon Thumbsup

การผูกขาดตลาดโทรคมนาคมในเม็กซิโกทำให้ผู้บริโภคจ่ายเกินจริงกว่า 4 แสนล้าน!

คนไทยจำนวนไม่น้อยมักจะบ่นว่าราคาค่าบริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้านเราแพง ไม่ยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในขณะที่บ้านเราก็ยังโต้แย้งเรื่องนี้ต่อไป thumbsup อยากนำเสนอมุมมองตลาดโทรคมนาคมจากอีกมุมหนึ่งของโลกอย่างประเทศเม็กซิโกที่ซึ่งเราอาจจะไม่คุ้นเคยกันนัก จากนั้นลองมาดูกันใหม่นะครับว่าบ้านเราเมื่อเทียบกับเม็กซิโกแล้ว คุณว่าบ้านเราเป็นอย่างที่เคยคิดก่อนหน้านี้หรือไม่

รายงานจาก OECD (Organization for Co-operation and Development) ระบุว่า ตลาดโทรคมนาคมในเม็กซิโกในปัจจุบันถือได้ว่าถูกผูกขาดโดยยักษ์ใหญ่เพียงรายเดียวอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือกลุ่มบริษัทของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Carlos Slim ที่นิตยสาร Forbes ประเมินว่ามูลค่าตัวของ Slim สูงถึง 74,000 ล้านเหรียญ หรือร่วม 2.3 ล้านล้านบาท สูงกว่าอันดับสองอย่าง Bill Gates ที่เรารู้จักกันดีที่มีมูลค่า 56,000 ล้านเหรียญ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท

กลุ่มบริษัทของ Slim ได้แก่ บริษัท America Movil ที่ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ และ Telmax ที่ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานแบบมีสาย โดยทั้งสองบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 70% และ 80% ตามลำดับ ในขณะที่ OECD ระบุว่า ในประเทศชั้นนำอื่นๆ อีก 34 ประเทศที่ทำการสำรวจพบว่า ผู้ให้บริการอันดับหนึ่งในประเทศต่างๆ เหล่านี้โดยเฉลี่ยจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ราว 40% เท่านั้น

ในรายงานดังกล่าวยังได้ระบุอีกว่า การที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในเม็กซิโกขาดการแข่งขันแบบนี้ได้นำไปสู่การขาดประสิทธิภาพของตลาด ซึ่งมีผลทำให้เกิดต้นทุนอันมหาศาลแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศและกลายเป็นภาระแก่ผู้บริโภค ซึ่งโดยรวมแล้วชาวเม็กซิโกต้องจ่ายเงินค่าบริการต่างๆ สูงกว่าความเป็นจริงถึง 13,400 ล้านเหรียญ หรือกว่า 415,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าส่งผลให้เกิดความเสียหายหรือกลายเป็นต้นทุนของระบบเศรษฐกิจของเม็กซิโกถึง 25,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 775,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2% ของ GDP ของประเทศเลยทีเดียว

ปัจจัยสำคัญหนึ่งของการผูกขาดดังกล่าวเกิดจากการที่รัฐบาลเม็กซิโกจำกัดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และยังไม่ให้อำนาจแก่หน่วยงานที่ควบคุมดูแลอุตสาหกรรมนี้อย่างเพียงพออีกด้วย ซึ่งหลังจากที่ OECD ได้เผยแพร่ผลการสำรวจนี้ออกไป Slim ได้ออกมาแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับผลการสำรวจดังกล่าว และไม่ทราบว่า OECD ได้ข้อมูลเหล่านี้มาจากไหน นอกจากนั้นยังยืนยันว่าอัตราค่าบริการยังถูกกว่าหลายๆ ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

ที่มา:?CNET

เราได้อะไรจากข่าวนี้: ถ้าดูภาพรวม จริงๆ บ้านเราโชคดีที่มีผู้ให้บริการใหญ่ถึง 3 รายมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด แม้อันดับของผู้ให้บริการจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานาน แต่การแข่งขันที่มีมาอย่างต่อเนื่องทำให้กลไกของราคาและการบริการมีการพัฒนาและเกิดการคานกันขึ้น เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ค่าบริการได้มีการปรับลดลงจากเดิมที่นาทีละ 18 บาทมาต่ำถึงนาทีละ 1 บาท (แล้วแต่ช่วงเวลาของโปรโมชั่น) ซึ่งการแข่งขันนี้ทำให้ผลประโยชน์มาตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก ในขณะที่ผู้ให้บริการทุกรายต่างก็ต้องพัฒนาโครงข่ายให้มีคุณภาพดีขึ้นและพัฒนาบริการให้ดีเพื่อรักษาลูกค้าไว้

ในอีกด้านหนึ่ง แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคมากมายทางด้านข้อบังคับต่างๆ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ยังถือได้ว่ามีการป้องกันการผูกขาดตลาดอย่างเบ็ดเสร็จในระดับที่ดีพอสมควร แต่การปรับโครงสร้างเรื่องของการให้สัมปทานและข้อบังคับในการให้บริการที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ถือเป็นเรื่องที่คนไทยต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดเพราะตลาดโทรคมนาคมไทยอาจจะถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะมาถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ อย่างแน่นอน