Site icon Thumbsup

Tencent เริ่มแล้ว ชวนแบรนด์เจาะนักท่องเที่ยวจีนโดยตรงผ่าน “Tencent Social Ads”

จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยตลอดปี 2017 ที่มากถึง 9.5 ล้านคน ตามการเปิดเผยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. นั้น ทำให้ Tencent ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม WeChat ซึ่งมีคนจีนใช้งานมากเป็นอันดับต้น ๆ ต้องออกมารุกตลาดมากขึ้นด้วยการเปิดพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน และออกโรงชวนผู้ประกอบการไทยให้มาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของชาวจีนผ่านการซื้อมีเดียบนแพลตฟอร์ม Tencent Social Ads (TSA) ได้โดยตรง ที่สามารถแสดงผลโฆษณาได้บนช่องทางต่าง ๆ ของธุรกิจในเครือของ Tencent โดยตั้งเป้าผลประกอบการในธุรกิจนี้เอาไว้ที่ 50 – 100 ล้านบาท

ลงมาเล่นในธุรกิจมีเดียเองแล้วสำหรับ Tencent ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ Tencent ลงมากระตุ้นให้แบรนด์ที่สนใจสามารถทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนผ่าน TSA โดยตรงได้นั้น คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าเนื่องจาก 20% ของจีดีพีประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว และในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นตัวเลขเท่ากับ 450,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 4% ของจีดีพีเลยทีเดียว

คุณกฤตธี มโนลีหกุล

โดยคุณกฤตธี มองว่า ผู้บริโภคจีนยังสามารถใช้จ่ายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพียงแต่แบรนด์ไทยต้องหาทางทำความรู้จักและให้ข้อมูลของสินค้ากับนักท่องเที่ยวจีนให้มากขึ้นตั้งแต่อยู่ที่เมืองจีน เพื่อที่ว่าเมื่อเขามาเที่ยวเมืองไทย จะได้มาหาซื้อสินค้าที่ตัวเองคุ้นเคย

ไม่เพียงแต่โปรโมตสินค้าหรือบริการเท่านั้น ในแง่ของโลเคชัน คุณกฤตธีเผยว่า แพลตฟอร์ม TSA ก็สามารถช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนสนใจอยากไปท่องเที่ยวในหัวเมืองรองอื่น ๆ  แทนที่จะพุ่งไปในหัวเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต แต่เพียงอย่างเดียวได้เช่นกัน ซึ่ง Tencent มองว่าหากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ได้มากขึ้น ก็จะช่วยกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนตามมา

สำหรับแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อโฆษณาได้ผ่าน TSA นั้น ได้แก่ WeChat Official Account, WeChat Moment Ads และ QZone Native Ads

แอปพลิเคชันในเครือของ Tencent เปรียบเทียบกับแอปพลิเคชันที่ใช้งานกันทั่วโลก

อ้างอิงจาก KPCB พบว่า ทราฟฟิกบนโลกออนไลน์ของนักท่องเที่ยวจีนนั้น ปัจจุบัน 56.7% อยู่บนโปรดักซ์ของ Tencent

ในจุดนี้คุณกฤตธีระบุว่า แพลตฟอร์มของ TSA มีความได้เปรียบและสามารถช่วยแบรนด์เจาะกลุ่มเป้าหมายได้ และการติดต่อเพื่อซื้อมีเดียตรงกับ Tencent ประเทศไทย ก็มีสิทธิประโยชน์ที่แบรนด์จะได้รับหลายประการที่เหนือกว่าการซื้อกับเอเจนซีในอดีตด้วย ซึ่งหนึ่งในข้อดีของการซื้อมีเดียตรงกับ Tencent คือ การที่แอคเคาน์นั้นเป็นสินทรัพย์ของแบรนด์ ไม่ใช่ของเอเจนซีนั่นเอง

สำหรับธุรกิจที่ควรโฟกัสนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับต้น ๆ ในตอนนี้ตามคำแนะนำของ Tencent ได้แก่ เครื่องสำอาง, โรงแรม, สายการบิน, สปา, อาหาร และขนมขบเคี้ยว โดยทาง Tencent จะมีทีมงานทั้งในไทยและจีนเพื่อช่วยแบรนด์ทำ Content Stretegy ให้ตรงกับความสนใจของผู้บริโภค (ในจีน) รวมถึงมีการพัฒนาร้านค้าแบบ Virtual ให้บน WeChat และอัปเดตข้อมูลให้ด้วย

อีกหนึ่งจุดเด่นของการซื้อมีเดียผ่าน Tencent โดยตรงคือ สามารถทำ Advertising ได้ ในขณะที่  ถ้าเป็นเอเจนซีซื้อให้นั้นจะไม่สามารถทำได้ แต่อาจเป็นการแปะแบนเนอร์ไว้ตามที่ต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี บริการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายอยู่เช่นกัน คุณกฤตธีเผยว่า การสมัคร Official Account นั้นฟรีก็จริง แต่ถ้าต้องการทำแคมเปญบน TSA กับ Tencent นั้น จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อแคมเปญ หรือประมาณ 324,000 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าธรรมเนียมในการยืนยันธุรกิจ (Verified) อีกปีละ 120 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,899 บาท

สาเหตุที่ต้องมีการ Verified นั้น คุณกฤตธีเล่าว่า เพราะคนจีนส่วนมากเติบโตมากับการหลอกลวง โดยเฉพาะการซื้อของออนไลน์ที่โฆษณาว่าของถูกแต่ซื้อมาแล้วสภาพภายในไม่ได้เป็นอย่างที่โฆษณาไว้ ดังนั้นการยืนยันตัวตนของธุรกิจจึงมีส่วนทำให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์นั้น ๆ มากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ทางคุณกฤตธีเผยด้วยว่า สำหรับความร่วมมือกับดิจิทัลเอเจนซีรายอื่น ๆ นั้น ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกันว่าจะพัฒนาออกมาในรูปแบบใด เพื่อให้ได้โซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย