Site icon Thumbsup

Tesco Lotus จัด Hackathon ปรับ Tesco Lotus Express สู่ค้าปลีก 4.0

 

เริ่มต้นปีก็คึกคักกันแล้วสำหรับวงการค้าปลีกไทย เมื่อ Tesco Lotus ออกมาประกาศจัด Hackathon 2018 ขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการ โดยมองว่ามี 5 เทรนด์ที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ เรื่องของ Digital Transformation, Healthy Lifestyle, New Family Structure, Sustainability และประเด็นของความรวดเร็วและความสะดวกสบาย โดยจะเน้นไปที่ร้านค้าปลีกขนาดเล็กออย่าง Tesco Lotus Express

โดยสาเหตุที่จัดเป็น Hackathon นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Tesco Lotus มีทีมพัฒนาเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และมีแล็ปด้านนวัตกรรมของตนเองที่ประเทศอังกฤษ การจัด Hackathon 2018 จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจได้รับคำตอบ หรือ Solutions ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่การจัดกิจกรรมในรูปแบบอื่นนั้น กว่าจะได้ผล หรือได้ทีมที่ชนะเลิศ บางทีอาจกินเวลาเป็นเดือน แถมบางครั้งในเชิงการตลาดก็อาจไม่ทันการณ์ เพราะแนวคิดนั้น ๆ อาจจะตกยุคไปแล้วนั่นเอง

อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ Tesco Lotus เลือกที่จะใช้ Hackathon กับโจทย์ธุรกิจของ Tesco Lotus Express ซึ่งปัจจุบันเป็นร้านค้าปลีกที่มีสาขามากถึง 1,500 แห่ง จากร้านค้าทั้งหมด 1,900 แห่งทั่วประเทศ และมียอดการซื้อสินค้าเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 415 ล้านครั้ง ซึ่งเหตุผลนั้น Tesco บอกว่าต้องการสร้างประสบการณ์การเข้าใช้ร้านค้าปลีกอย่าง Express เสียใหม่ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต

ส่วนทั้ง 5 เทรนด์ที่ Tesco Lotus หยิบขึ้นมาเป็นโจทย์ในครั้งนี้ คุณสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท Tesco Lotus มองว่า ทั้งห้าเทรนด์ เป็นเทรนด์ที่มีผลกระทบกับสังคมไทยค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของโครงสร้างครอบครัวยุคใหม่ที่ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากคนมีลูกน้อยลง หรือในส่วนของ Healthy Lifestyle ที่คนในยุคนี้เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น

ด้านคุณอมฤต เจริญพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA  ได้แชร์ไอเดียเกี่ยวกับค้าปลีก 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ว่า เขามองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากการมีหน้าร้านไปสู่การมีดาต้าของผู้ใช้อยู่ในมือ และนำดาต้าเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของ Experience ที่ห้างกลายเป็นสถานที่ให้คนมา Experience สินค้ามากขึ้น ขณะที่โซนจัดแสดงสินค้าอาจมีน้อยลง และไปปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์เสียมากกว่า 
“ปัญหาที่ผ่านมาของวงการสตาร์ทอัปคือ หลาย ๆ ประเทศ สตาร์ทอัปไม่มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับอุตสาหกรรมที่ตนเองอยากเข้าไปแก้ปัญหามากนัก ตรงข้ามกับบ้านเราที่ต้องบอกว่าในระดับภูมิภาค ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องที่สตาร์ทอัปมีโอกาสทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่มากที่สุดในอาเซียน” ในจุดนี้ คุณอมฤตมองว่าเป็นจุดแข็งของสตาร์ทอัปไทย และทำให้สตาร์ทอัปในไทยที่จะได้เรียนรู้เพิ่มเติมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ทำให้ผลงานออกมาสามารถนำไปปรับใช้ในเชิงธุรกิจได้เป็นผลสำเร็จมากกว่า
“การมีคอนเนคชันกับคนในวงการทำให้สตาร์ทอัปได้เข้าใจภาพรวมของธุรกิจ ได้เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ได้เข้าใจภาคการเกษตร ฯลฯ ที่พวกเขาอาจไม่เคยได้มีโอกาสสัมผัสดีเท่ากับผู้ที่อยู่ในวงการมาก่อน ซึ่งการได้รู้ข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสตาร์ทอัปเองในการคิดโปรเจ็ค” คุณอมฤตกล่าว
ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่า รูปแบบของ Hackathon อาจถูกนำมาใช้มากขึ้นกับภาคธุรกิจ โดยผู้ที่กล่าวถึงประเด็นนี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดี งานยุทธศาสตร์และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันมากกับการบ่มเพาะความรู้ในด้านต่าง ๆ ซึ่งไม่เฉพาะในระดับปริญญาตรี แต่ในระดับประถม – มัธยม ก็พบได้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างนักเรียนของสาธิตจุฬาฯ เองก็มีการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
“Hackathon เป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกันในเวลาสั้น ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าแนวคิดหรือไอเดียของเขาสามารถนำมาสร้างเป็นธุรกิจได้”
ทั้งนี้ข้อมูลจากคุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อานวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เผยว่า ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีแรงงานไหลออกจากระบบปีละ 1% ดังนั้นหากไม่สามารถเพิ่ม Productivity ให้ได้มากกว่านี้ จะมีผลทำให้จีดีพีของประเทศลดลง 
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครผ่านทาง www.facebook.com/TescoLotusHackathon2018 ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ โดยจะมีการจัดกิจกรรม Open House ในวันที่ 3 มีนาคม 2561 เพื่อปฐมนิเทศให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขันได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจของ Tesco Lotus และได้รับความรู้จากกูรูในสาขาต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ก่อนเริ่มต้นแข่งขันในวันที่ 16-18 มีนาคม ให้เวลาแข่งขันทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้เข้าสมัครได้ระดมความคิดและนำเสนอไอเดียกันอย่างเต็มที่ โดยคณะกรรมการตัดสินประกอบไปด้วย  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และผู้บริหาร Tesco Lotus  ชิงรางวัลมูลค่า 400,000 บาท ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ ลอนดอน เพื่อไปดูงานที่เทสโก้ แล็บ และพบปะกับผู้บริหารกลุ่ม Tesco ด้วย

 

“นอกจากรางวัลแล้ว เราเชื่อมั่นว่าโอกาสในการได้ทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่และการนำไอเดียมาพัฒนาต่อยอดใช้งานจริงภายในร้านค้าของเทสโก้ โลตัส จะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันวงการสตาร์ทอัพของไทย นอกจากนั้นแล้ว ภายในกลุ่มเทสโก้ มีธุรกิจค้าปลีกอยู่ใน 10 ประเทศ ซึ่งอาจนำมาซึ่งโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพไทยในการก้าวสู่เวทีในระดับโลก” นางสาวสลิลลากล่าวสรุป