Site icon Thumbsup

ความกดดันของโอเปอเรเตอร์ไทย กับการเติบโตของสมาร์ทโฟนและ Mobile Internet…

ในปีที่ผ่านมา (รวมถึงปีนี้และในอนาคต) หลายๆ คนคงเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเล่นที่บ้าน มาเล่นนอกบ้าน จากบนคอมพิวเตอร์ PC มาเล่นบนโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาทั้งหลาย แม้กระทั่งทิศทางของรูปแบบโทรศัพท์ ที่ปัจจุบันเราจะเห็นว่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้แค่ไว้โทรออกรับสายนั้นเริ่มมีให้เห็นน้อยลง ในขณะที่สมาร์ทโฟนกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด… ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ เป็นที่มาของสิ่งที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ครับ

เรื่องที่จะพูดถึงไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงต่อโลกเทคโนโลยีดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หากแต่เรื่องที่จะพูดถึงคือ ในด้านของ Supply อย่างผู้ให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบ้านเรา ซึ่ง ณ วันนี้ คงต้องยอมรับว่าหลายๆ คนไม่ได้ใช้เพียงคอมพิวเตอร์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์พกพา กลับกลายเป็นสิ่งที่มีผลทำให้การใช้งานอินเทอร์เนตของบ้านเราสูงขึ้น (จริงๆ ในต่างประเทศเป็นแบบนี้มาพักใหญ่แล้ว บ้านเราก็มาเริ่มเห็นได้ชัดเอาในช่วงปีที่ผ่านมานี่เอง)

แน่นอนว่าผู้ใช้งานย่อมต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ หากแต่ปัจจุบันบ้านเรานั้น ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีในยุคที่ 3 ของการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเต็มรูปแบบมากนัก ที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ว่าจะพึ่งพาได้เสียทีเดียว หรือทดแทนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

แน่นอนว่าผู้ให้บริการแต่ละค่าย ย่อมที่จะต้องมองหาสิ่งที่จะทำให้พวกเขาดึงให้ลูกค้าเลือกพวกเขาแทนที่จะไปใช้บริการกับคู่แข่ง การพัฒนาให้อินเทอร์เน็ตแบบพกพาหรือ Mobile Internet นั้น สามารถใช้งานได้ดี และเป็นที่พึงพอใจต่อลูกค้า คือสิ่งที่เป็นหน้าที่ที่พวกเขาต้องรีบทำโดยด่วน

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้ให้บริการทั้งหลาย ยังไม่มีใครที่สามารถรักษาระดับของคุณภาพได้อย่างคงเส้นคงวานัก โดยปัจจัยที่เข้ามาทำให้เกิดความไม่เสถียรนั้น ก็คงหลีกเลี่ยงเรื่องของจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ เพราะในเทคโนโลยี Packet Switch ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของ 2G อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานพร้อมๆ กันได้จำนวนมาก แต่แน่นอนว่าคุณภาพย่อมลดลงเป็นเรื่องปกติ

บนเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มีตัวอย่างในต่างประเทศให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อย่างล่าสุด Verizon ก็ประสบปัญหากับเรื่องของเครือข่าย ที่มีปัญหาต่อเนื่อง หรือ AT&T ที่มีปัญหาความเสถียรของเครือข่าย อันสืบเนื่องมากจากอุปกรณ์พกพาอย่าง iPad และสมาร์ทโฟน จนถูกทาง FCC ออกมาเตือน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทเป็นอย่างมาก

ในยุคที่เรากำลังเตรียมตัวที่จะทำ “3G” นั้นถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะแข่งกันใหม่อีกครั้ง ระหว่างบรรดาผู้ให้บริการ เพราะเทคโนโลยีทุกอย่างเปลี่ยนไป ใครที่สามารถทำได้ดีกว่าย่อมสามารถ “ซื้อใจ” ลูกค้าได้มากกว่าแน่นอน อย่างไรก็ตามราคาค่าบริการก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ให้บริการพึงต้องระลึกอยู่เสมอ เพราะในอดีตการแข่งขันทางด้านราคามีให้เห็นมาอยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งพวกเขารู้ดีว่า มันไม่ได้ส่งให้เกิดผลดีในระยะยาวแน่นอน นอกจากจะเป็นผลลบต่อตัวเองในด้านโครงสร้างของราคา

ยิ่งในวันที่เราสามารถเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายใหม่ โดยยังสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์หมายเลขเดิมได้อย่างอิสระ (Mobile Number Portablity) ยิ่งทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นที่จะต้องรักษาสมดุลทางด้านราคาและคุณภาพ แถมยังต้องถูกใจลูกค้าที่จะมาเลือกใช้บริการอีกด้วย?ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีตัวเลขอ้างอิงถึง จำนวนผู้ใช้บริการที่ย้ายไปต่างค่ายว่ามีจำนวนเท่าใด แต่นี่คือสิ่งที่เหมือนเครื่องมือที่ลูกค้าจะสามารถใช้ต่อรองกับผู้ให้บริการได้เป็นอย่างดี

นี่จึงถือเป็น “ความกดดัน” อันใหญ่หลวงของบรรดาผู้ให้บริการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ในวงการการสื่อสารในบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ (ซึ่งหลายคนคงพอเดาได้ว่ามันคืออะไร) จะทำให้งานเหล่านี้ยากเป็นเท่าทวีอย่างแน่นอน

เราคนไทยก็คงต้องมาติดตามสถานการณ์ในบ้านเราอย่างใกล้ชิด ว่าทิศทางของการใช้งาน Mobile Internet ในบ้านเราจะมีทิศทางไปอย่างไร และเราจะมีโอกาสใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบพกพาที่มีคุณภาพกันบ้างหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์จากบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบ้านเรากันครับ…

หากชอบบทความนี้และเห็นว่ามีประโยชน์ การแบ่งปันผ่าน Facebook และ Twitter จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมขอบคุณทุกคนมากครับ และถ้าจะเสียสละเวลาอันมีค่า คลิกปุ่ม “thumbsup” ที่มุมขวาบนของบทความ จะเป็นกำลังใจให้พวกเราพัฒนาและหาสิ่งที่มีประโยชน์มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกอย่างแน่นอนครับ…