Site icon Thumbsup

รวมพลบล็อกเกอร์รุ่นเดอะ – รุ่นเด็ก ประกาศ Thailand Best Blog Awards’2017

เป็นงานรวมพลเหล่าบล็อกเกอร์ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ทั้งรุ่นเดอะ และบล็อกเกอร์เลือดใหม่ไฟแรงที่บรรยากาศดีมาก ๆ งานหนึ่งของค่ำคืนนี้เลยทีเดียวกับงานประกาศผลรางวัล Thailand Best Blog Awards by CP ALL ที่จัดขึ้นที่โรงละครสยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน โดยบล็อกที่ได้รับรางวัล Blog of the year ไปครองก็คือ Mission to the Moon ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ จากแบรนด์ศรีจันทร์ นั่นเอง

สำหรับความสำเร็จของ Mission to the Moon ปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มด้วยสองมือของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ และทีมแอดมิน ในการใช้พื้นที่ในบล็อกและบนเพจใน Facebook ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับแบรนด์ศรีจันทร์ รวมถึงแง่คิดในเชิงธุรกิจจนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน

การรับรางวัล Blog of the year ของ Mission to the moon จึงไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

ในขณะที่บล็อกให้ความรู้ยอดเยี่ยม หรือ Best Knowledge blog ที่เน้นการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดในชีวิตประจำวันได้นั้น ปีนี้เป็นของวิทย์สนุกรอบตัว ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของทีมคณาจารย์สายวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยากให้เรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้คนมากขึ้น โดยมองว่า การมีความตระหนักในวิทยาศาสตร์จะทำให้คนเราใช้ชีวิตอย่างไม่ตระหนกนั่นเอง

โดยคอนเทนต์ของวิทย์สนุกรอบตัวจึงเป็นวิทยาศาสตร์ที่ย่อยง่าย และน่ารู้ ในรูปของ Infographic ที่สวยงาม ยกตัวอย่างเช่น ข้างขึ้นข้างแรม, ทำไมลูกกอล์ฟมีรอยบุ๋ม, ทำไมโดนฝนแล้วเป็นหวัดง่าย ไปจนถึงเป่ายิ้งฉุบยังไง ให้ชนะ?

 

ส่วนรางวัลที่น่าสนใจรางวัลหนึ่งในเวทีแห่งนี้ก็คือรางวัลบล็อกหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (Best New Blog) ซึ่งทีมที่ได้รางวัลนี้ไปครองคือ SpaceTH.co ผลงานการพัฒนาของกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจในเรื่องของอวกาศ โดยอายุของสมาชิกในทีมนั้นอยู่ระหว่าง 16 – 19 ปีเท่านั้น แต่คอนเทนต์ในเว็บของน้อง ๆ ทีม SpaceTH นั้นบอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา

น.ส.ภคตา ไพศาลธนากร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SpaceTH เผยว่า รางวัล Best New Blog ถือเป็นรางวัลที่ทำให้ทางทีมมีกำลังใจในการทำบล็อกนี้ต่อไป ซึ่งส่วนตัวเธอไม่ได้มองว่ามันคือความสำเร็จ หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำงานชิ้นนี้ (เว็บ SpaceTH.co ก่อตั้งมาได้ 6 เดือนเศษเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีผู้เข้าเยี่ยมชมแล้วเกือบ 1 ล้าน Reach ส่วนบน Facebook ก็มีผู้คลิก Like แล้วกว่าหมื่นราย)

ทีม SpaceTH

น้องภคตาเปิดเผยว่าทุกวันนี้ แค่ได้ทำในสิ่งที่รักและมีความสุขกับมัน รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในวงการบล็อกเกอร์ และการได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่หลายท่านในแวดวงธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนในทีมมีความสุขไม่น้อยทีเดียว

โดยในการประกาศผลรางวัลครั้งแรกนี้ มีเพียงรางวัล Best Creative Blog หรือบล็อกสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม เท่านั้นที่ยังไม่มีผลงานใดเข้าตากรรมการ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเซสชั่นให้ความรู้ด้านการผลิตคอนเทนต์จากผู้คร่ำหวอดในวงการ เช่น คุณสโรจน์ เลาหศิริ Chief Marketing Officer ของ Rabbit’s Tale ที่ฝากแง่คิดถึงบล็อกเกอร์เอาไว้อย่างน่าสนใจนั่นคือเรื่องของ Signature หรือก็คือลายเซ็นต์ที่เป็นตัวบ่งบอกว่า ใครคือผู้ผลิตคอนเทนท์ชิ้นนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บล็อกเกอร์ต้องหา Signature ของตัวเองให้ได้

คุณสโรจน์ เลาหศิริ

เมื่อมีลายเซ็นต์ที่ดีแล้ว สองคือต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการทำบล็อกด้วย เพื่อให้สามารถต้านทานความต้องการจากภาคธุรกิจ หรือดีมานด์จากผู้อ่านที่อาจมากเกินไปได้นั่นเอง และสุดท้ายต้องมีการ “สะสม” สร้างผลงานดี ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

“คุณค่าอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคมองหาก็คือความโปร่งใสและความจริงใจ นักอ่านเดี๋ยวนี้รู้ว่ามีการจ่ายเงินเพื่อมารีวิว แต่ผู้เขียนกล้าไหมที่จะบอกว่า ตนเองรู้สึกอย่างไรต่อโปรดักซ์นั้น ๆ จริง ๆ” นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่า สำหรับแบรนด์แล้ว สิ่งที่แบรนด์มองหาจากบล็อกเกอร์นั้นมี 3F ได้แก่ Fit (กลุ่มเป้าหมายของบล็อกตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ลูกค้าไหม) Fact (มีการวัดค่าต่าง ๆ การใช้เครื่องมือด้าน Analytics ) และ Feeling (เช่น เวลาคุยงานกัน ให้ความรู้สึกว่าเคมีเข้ากันได้ไหม ฯลฯ เป็นต้น)

ด้านคุณทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Matter ได้เสนอโมเดลธุรกิจเพื่อช่วยหาเงินให้กับบล็อกต่าง ๆ เอาไว้อีกหลายโมเดล ยกตัวอย่างเช่น ทำรายได้จากค่าโฆษณา แต่ไม่ใช่โมเดลที่เหมาะสม เพราะสุดท้ายจะเกิดการแข่งขันที่หนักข้อขึ้น และไม่เป็นผลดีต่อวงการ, การเปิดรับสมัครสมาชิก (Subscription) ที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกจึงจะเข้าอ่านได้, การจัดทำพรีเมียมคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มจึงจะสามารถเข้าถึงได้, การจัดสัมมนา – อีเวนท์, เขียนบล็อกให้มีชื่อเสียง แล้วผันตัวไปเป็นดารา เขียนหนังสือ, การเปิดรับเงินจาก Crowdfunding หรือการขอการสนับสนุนจากองค์กรการกุศล

สุดท้ายคุณวิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Happening ได้ฝากทิ้งท้ายเอาไว้กับ 3 ประเด็นหลัก ๆ นั่นคือ

  1. ในฐานะบล็อกเกอร์ เราสามารถพูดได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกของเราบ้าง และการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ
  2. เรายังต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม จึงควรเผื่อใจไว้บ้าง ไม่จำเป็นต้องสร้างความเกลียดชังหรือความรุนแรงให้เกิดขึ้น
  3. ในความเป็นสื่อ และการมีพื้นที่เพื่อบอกเล่าเรื่องราว บางครั้งมีเรื่องราวบางเรื่องที่ไม่ได้ส่งมาถึงเราโดยวิธีปกติ แต่อาจต้องอาศัยบางสิ่งบางอย่าง รวมถึงใจที่เปิดกว้างจึงจะได้ยินเสียงนั้นนั่นเอง

นอกจากได้รวมพลคนทำบล็อกแล้ว เชื่อว่าเรายังได้ประสบการณ์ดี ๆ แง่คิดดี ๆ กลับมาปรับใช้กับงานกันไม่น้อยเลย