Site icon Thumbsup

รัฐกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หั่นภาษีเหลือ 0% ยาว 3 ปี หวังลดค่า PM2.5-PM10

กรมสรรพสามิต ประกาศปรับลดอัตราภาษีสรรพามิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI จาก 2 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ระบุต้องการลดการปล่อยมลพิษฝุ่น PM 2.5 – PM 10 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂)

ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่ง โดยการจัดเก็บภาษีประเภทนี้จะเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภทที่รัฐเห็นว่าควรเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าปกติทั่วไป ประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาจัดเก็บภาษีดังกล่าว คือ

  1. เป็นสินค้าและบริการที่บริโภคแล้วอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่ สนามม้าแข่ง ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเข้าไปควบคุมดูแล เพราะเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมสูง
  2. เป็นสินค้าและบริการที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์นั่งราคาแพง เรือยอชต์ เครื่องดื่มบางประเภท น้ำหอม แก้วคริสตัล โคมระย้า
  3. เป็นสินค้าและบริการที่ได้รับประโยชน์เป็นพิเศษจากกิจการของรัฐ เช่น น้ำมัน ผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นต้น

แต่ล่าสุดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เห็นควรนำปัจจัยเรื่องการปล่อยมลพิษฝุ่น PM มาเป็นหลักการในการกำหนดอัตราภาษีควบคู่ไปกับหลักการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดลำดับความเร่งด่วนและการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ปรับลดอัตราภาษีรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าเหลือ 0%

กรมสรรพสามิต ระบุว่า มีความต้องการลดอัตราการปล่อยฝุ่นจากท่อไอเสียของรถยนต์ใหม่ โดยมองว่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน คุ้มค่ากับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และเป็นการสนับสนุนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI นั่นเอง

จึงเห็นควรลดอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากเดิมอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2565 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี เนื่องจากมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) และไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากท่อไอเสีย

แต่หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ไป ให้กลับมาใช้อัตราภาษีสรรพามิตที่ 2 เปอร์เซ็นต์ตามเดิม

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบปรับลดอัตราภาษี ดังนี้

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

แม้กรมสรรพสามิตคาดการณ์ว่าสูญเสียรายได้เข้ารัฐไปประมาณ 300-1,000 ล้านบาท แต่ถึงอย่างไรก็ตามรัฐมองว่ามาตรการดังกล่าว จะสร้างความคุ้มค่าต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนารถเครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยมพิษหรือฝุ่น PM ตามมาตรฐานยูโร 5 ได้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้ฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 มีอัตราลดลง รวมถึงลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนและค่าใช้จ่ายภาครัฐเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

รวมถึงมองว่าคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะผู้ประกอบการ 13 รายจะรีบมาขออนุมัติจาก BOI เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะทำให้ต้นทุนรถยนต์ลดลง 2-4 หมื่นบาทต่อคัน จากเดิมที่ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยตอนนี้ราคาอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท และผู้ประกอบการ 4 ค่ายใหญ่สนใจจะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในรถกระบะมาใช้น้ำมัน B20 ให้ได้ภายในปีนี้ เพราะทำให้ราคารถยนต์ลดลงได้คันละประมาณ 1 หมื่นบาท

น่าจับตาว่าตลาดรถยนต์ทั่วไปและตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการลดหย่อนภาษีไปหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งตลาดหลังจากนี้คงจะคึกคักมากขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนเพิ่ม

และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเริ่มออกสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามารองรับมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

ที่มา : กรมสรรพสามิต (1) (2), ไทยโพสต์ และ โพสต์ทูเดย์