Site icon Thumbsup

ไทยรัฐยุคใหม่ต้องเร็วกว่าเดิม เปิดวิสัยทัศน์ “วัชร วัชรพล” ในวันที่สื่อหยุดนิ่งไม่ได้

‘หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ’ อยู่คู่กับแผงหนังสือมาเป็นระยะเวลากว่า 70 ปี ปรับตัวต่อยอดมาสู่ ‘ไทยรัฐออนไลน์’ ในปี 2551 และกระโดดเข้ามาแข่งขันในทีวีดิจิทัลภายใต้ชื่อ ‘ไทยรัฐทีวี’ เริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2557 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Digital Disruption) ที่กระทบสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์และทีวี ‘ไทยรัฐ’ มีกลยุทธ์ในการรับมือและปรับองค์กรอย่างไร ให้สามารถยืนหยัดผลิตคอนเทนต์คุณภาพสู่ผู้ชมทั่วประเทศในยุคที่สื่อต้องปรับตัวตลอดเวลา

Thumbsup มีนัดพิเศษกับคุณวัชร วัชพล ในบทบาทประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด) และสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด) ตลอดจนเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสนับสนุนธุรกิจ บริษัท วัชรพล จำกัด

การเปลี่ยนผ่านไทยรัฐสู่ยุคดิจิทัล

คุณวัชรได้เล่าถึงการปรับตัวของ’ไทยรัฐ’ว่าไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่มีการปรับตัวและพัฒนามาเรื่อยๆ ‘ไทยรัฐออนไลน์’ก่อตั้งมาแล้ว 11 ปี เว็บไซต์มีตั้งแต่ 2538 แต่ว่าไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก จนมาถึงปี 2552 การเข้ามารับช่วงต่อของคุณวัชร ได้ปรับนโยบายให้ความสำคัญกับเว็บไซต์มากขึ้น แยกบริษัทลูกออกมากเพื่อให้บริหารจัดการคล่องตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ผมเข้ามาบริหารเป็นระยะเวลา 11 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ยุคที่ส่งข่าวทาง SMS รายเดือน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เราก็เริ่มจากปรับปรุงเว็บไซต์ พร้อมกับเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ”

วิกฤตโควิด-19 กระทบธุรกิจสื่อแค่ไหน ไทยรัฐรับมืออย่างไร

คุณวัชรกล่าวว่า “สื่อกระทบแน่นอนอยู่แล้ว เพราะในส่วนของเอเจนซี่หรือผู้ลงโฆษณาต่างๆ มีการระงับใช้งบประมาณหรือว่าทบทวนแผนการลงโฆษณาโปรโมทสินค้าต่างๆ รวมถึงโฆษณาอีเวนต์ก็ต้องหยุดเลื่อนออกไป เพราะฉะนั้นก็จะไม่ได้เม็ดเงินจากรายได้ในส่วนนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามในแง่ของผู้ชมผู้อ่านกลับเพิ่มขึ้น เพราะเข้าใจว่าคนอยู่บ้านมากขึ้น ต้องการติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางออนไลน์และทีวี ซึ่งในช่วงล็อกดาวน์ทีวีมีเรตติ้งเพิ่มขึ้น 10% แม้ว่าว่ารายได้จะลดลง แต่จำนวนผู้ชมเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ”

ในส่วนของการทำงาน ไทยรัฐออนไลน์ได้มีการเอาเครื่องมือดิจิทัล (Digital Tool) เข้ามาใช้ในการทำงานประมาณ 2 ปี ทำให้การทำงานออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงได้มีการทดลองให้ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ทำให้ช่วงล็อกดาวน์ไทยรัฐออนไลน์ปรับตัวได้ง่าย สามารถประชุมและทำงานได้ตามปกติผ่านเครื่องมือดิจิทัล

สำหรับไทยรัฐทีวีถือว่าปรับตัวยากกว่า เพราะว่าทีวีต้องเข้ามาถ่ายทำในสตูดิโอ ทีมงานจึงแบ่งเป็นทีม A กับทีม B สลับกันเข้ามาทำงาน เผื่อกรณีที่สมาชิกทีมใดทีมหนึ่งติดเชื้อหรือว่าสุ่มเสี่ยงต้องกักตัว อีกทีมก็สามารถเข้ามาทำงานได้ เนื่องจากสื่อเป็นงานที่ดำเนินการตลอด 365 วัน เกือบ 24 ชั่วโมง ทำให้ต้องมีคนเข้ามาทำงานอยู่ตลอด

คุณวัชรเล่าว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบเม็ดเงินโฆษณา แต่ไทยรัฐก็ไม่มีนโยบายปรับลดพนักงานหรือปรับลดเงินเดือน พนักงานได้รับสวัสดิการทุกอย่างเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือซื้อประกันและบริการตรวจโควิดฟรีให้กับพนักงานทุกคน

สื่อออนไลน์มาแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ไปไหน

ผมเชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังอยู่ได้ เพราะสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีเสน่ห์หลายๆ อย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่จะอยู่ได้ด้วยสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค 

จากที่เคยทำผลสำรวจในสมัยก่อนคนจะไปที่แผงหนังสือซื้อหนังสือพิมพ์ 3-4 หัว แต่ว่าในวันนี้เขาอาจจะลดเหลือเล่มเดียว แต่เล่มเดียวนั้นคือไทยรัฐ เพราะฉะนั้นเรายังเชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังอยู่ได้แต่ก็ต้องปรับตัวด้วย

สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังอยู่ สื่อออนไลน์ก็ต้องทำ ไทยรัฐทีวีเป็นอย่างไรบ้าง

คุณวัชรยอมรับว่าหากถามคำถามเดียวกันเมื่อ 4 ปีที่แล้วอาจได้รับคำตอบอีกแบบหนึ่ง แต่หลังจากผ่านมาถึงครึ่งทางของระยะเวลาสัมปทาน ตนเองมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกแล้วสำหรับการเข้ามาแข่งขันในทีวีดิจิทัล

“ในช่วง 2-3 ปีแรกไทยรัฐทีวีก็ยังค้นหาตัวเองว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบไหน เราทดลองมาหลากหลายรายการจนเข้าใจ essence ของตัวเองแล้ว สำหรับข่าวเราก็ปรับจนรู้แล้วว่าไทยรัฐทีวีควรจะไปแนวทางไหน ที่เหลือมันก็จะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่ต้องเรียนรู้แล้วก็ยังต้องปรับตัวกันอยู่ ผมมองว่าธุรกิจสื่อในยุคนี้ขอบเขตของการแข่งขันมันจางมาก มันไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดว่าทีวีต้องแข่งขันกันเอง แต่ทีวีกับออนไลน์มันกลืนกันไปหมดแล้วไม่ทางตรงก็ทางอ้อม สุดท้ายมันก็คือการแย่งความสนใจของผู้ชม ณ เวลานั้นเพราะฉะนั้นเราก็ต้องเผยแพร่คอนเทนต์ไปในทุกๆ ช่องทาง ทีวีก็เอาไปขึ้นอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือจะกดดูจากทีวีเลยก็ได้เพราะเส้นแบ่งมันละลายหายไปหมดแล้ว”

ไทยรัฐทีวีจำกัดไหมว่าต้องเป็นข่าว

ด้วยแบรนด์และภาพลักษณ์ต้องบอกว่าไทยรัฐทำได้ดีในเรื่องข่าว ความเข้าใจของผู้ชมที่อาจติดมากับหนังสือพิมพ์อายุ 70 ปีของเรา ทำให้เรามั่นใจในการเลือกที่จะทำข่าวแบบนี้

สำหรับรายการวาไรตี้และละครต้องบอกว่าผมไม่ปิดกั้นถ้ามีโอกาสอะไรดีๆ เข้ามา หรือว่าไปเจอของที่มันใช่มันโดนกว่าข่าวที่เราทำอยู่ แต่ต้องบอกว่าละครหรือวาไรตี้มีต้นทุนการผลิตสูงมาก ขณะที่มันก็ไม่ได้การันตีอีกด้วยว่าจะมาพร้อมกับเรตติ้งที่สูง

ความท้าทายของสื่อหลักในยุคที่โซเชียลมีเดีย

ในยุคปัจจุบันแทบทุกคนมีมือถือ สามารถเปิดเพจ สามารถถ่ายรูป เขียนรายงานข่าวได้ บางทีข่าวจากผู้ใช้ทั่วไปมีความรวดเร็วมากกว่าสื่อหลักเสียอีก แต่เรายังไม่พูดถึงความถูกต้องกับการตรวจสอบ

ดังนั้นสิ่งที่ยังทำให้ ‘ไทยรัฐ’ เป็น ‘ไทยรัฐ’ คือความน่าเชื่อถือและการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะนำเสนอ

ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่นำเสนอเป็นเรื่องจริงที่ผ่านการตรวจสอบที่มาที่ไป นี่เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สื่อหลักต้องเจอ

คุณวัชรเล่าต่อว่า สื่อสังคมออนไลน์ทำให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้หมดก็จริง แต่ว่ามันก็มาพร้อมกับข่าวปลอม (Fake News) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอดคือการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา มีจรรยาบรรณ และพูดถึงข้อเท็จจริงเป็นหลัก

นอกจากนี้การเข้ามาของสื่อออนไลน์ จากผลสำรวจต่างๆ ก็จะพบว่าคนไทยใช้เวลาอยู่บนโลกโซเชียลสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งตรงนี้ก็จะกระทบกับเม็ดเงินที่ไหลไปยังแพลตฟอร์มมากขึ้น สำนักพิมพ์ในไทยนอกจากต้องแข่งขันกันเองแล้ว ก็ต้องแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกด้วยซึ่งนี่ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง 

ฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามมาตลอดคือให้ผู้อ่านเข้าถึงเว็บไซต์ไทยรัฐโดยตรง (Direct Traffic) มากขึ้น ขณะที่เราก็ยังต้องตอกย้ำความเป็นแบรนด์ของเรา ความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าวซึ่งเป็นสิ่งที่เรายึดถือมาตลอด

มองการปรับตัวของธุรกิจสื่ออย่างไร

ผมว่าต้องมองสื่อเป็นเหมือนธุรกิจ ถ้าธุรกิจประสบปัญหาก็ต้องปรับตัวกันไปตามปกติ ต้องกลับมามองว่าองค์กรเรามันเทอะทะไปรึเปล่า ทำงานซ้ำซ้อนกันรึเปล่า workflow เป็นอย่างไรติดขัดอะไร หรือมีระบบอะไรที่จะเอาเข้ามาแล้วช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้ไหม

สุดท้ายมันก็คือการทำธุรกิจอย่างนึง ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือว่าธุรกิจอื่นก็ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย ระบบหรือเทคโนโลยีบางอย่างอาจช่วยลดความผิดพลาดของมนุษย์ได้ (Human Error) ใช้กำลังคนน้อยลง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นหนึ่งในต้นทุนที่ใหญ่ขององค์กร ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การปรับลดคนก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ

สำหรับการปรับรูปแบบการนำเสนอข่าวก็เหมือนกัน ต้องมองว่ามันเป็นสินค้าตัวหนึ่ง สมมุติลูกค้าบอกว่าสินค้าเราหวานไป เราก็ต้องทำเป็นสูตรน้ำตาลน้อยขึ้นมา หรือผสมสูตรใหม่ขึ้นมาให้ถูกปากผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้นเอง

อนาคตของไทยรัฐจะเป็นไปในรูปแบบไหน

ผมบอกกับทุกคนในองค์กรเสมอว่าเราต้องพยายามอัปเดตตัวเองอยู่เสมอ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิมมันเหมือนย่ำอยู่กับที่

เราไม่ควรจะมี Mindset แบบนั้น ผมเข้ามาทำไทยรัฐออนไลน์เมื่อปี 2552 ถ้าดูอันดับในตอนนั้นเราอยู่ที่ประมาณ 20 แต่ทุกวันนี้เราขึ้นมาเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งของหมวดข่าวในประเทศไทย การที่เราจะรักษาอันดับไว้มันยากยิ่งกว่าตอนที่เราก้าวขึ้นมา

ฉะนั้นกลยุทธ์ของไทยรัฐต่อจากนี้ไปคือ Technology-Driven Media Company หรือบริษัทสื่อที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน ทุกวันนี้เราได้ปรับปรุงระบบหลังบ้าน พัฒนาเวิร์กโฟลว์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะได้ส่งมอบชิ้นงานออกไปสู่สายตาผู้ชมให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด

คุณวัชรได้เล่าถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ Subscription Model หรือระบบสมัครสมาชิก ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของเว็บไซต์ไทยรัฐที่มีฐานผู้ใช้งาน (Daily Active Users) 2 ล้านคนต่อวัน เพจวิววันละ 6 ล้านเพจวิว ในหนึ่งเดือนมีผู้ชมมากถึง 180 ล้านเพจวิว 

เราได้ดูตัวอย่างจากสื่อใหญ่ๆ ในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เราจะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ปิดตัวไปเยอะ แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่รอดได้เนื่องจากโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณา (Advertising Revenue) อย่างเดียวแล้ว

นอกจากนี้ระบบสมัครสมาชิกแล้ว’ไทยรัฐ’ยังได้ทดลองเปิดบริการ Thairath Classified พื้นที่ซื้อขายบนเว็บไซต์ไทยรัฐที่เปิดให้คนทั่วไปมาซื้อขาย อสังหา รถยนต์ หรือของจิปาถะต่างๆ รวมถึงได้ทดลองทำระบบอีคอมเมิร์ซให้ผู้ชมกดรับคูปองบนเว็บไซต์เพื่อนำไปช้อปปิ้งหรือแลกส่วนลดสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ให้หลากหลายมากขึ้น