Site icon Thumbsup

สำรวจพบ 24% ของโฆษณาสินค้าแบรนด์เนมบน Facebook มาจากเว็บไซต์ปลอม เสี่ยงถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิต

นักวิจัยด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เก็บตัวอย่างจากโฆษณาบน Facebook นับพันชิ้นและพบว่า 1 ใน 4 ของโฆษณาเหล่านั้นมาจากเว็บไซต์ขายสินค้าแบรนด์เนมที่พยายามลอกเลียนแบบเว็บไซต์ทางการของแบรนด์เหล่านั้น

และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือข้อมูลบัตรเครดิตของผู้ใช้งานนั่นเอง

ดูแบบผ่านๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่าโฆษณาพวกนี้มันใกล้เคียงกับของจริงมาก และเมื่อคลิกเข้าไปแล้ว มันจะพาเราไปในเว็บไซต์ที่ดูเหมือนของจริงเช่นกัน ทำให้ผู้ใช้งาน Facebook บางส่วนเชื่อว่าตัวเองกำลังซื้อสินค้าแบรนด์เนมของจริงในราคาถูก

ผลการศึกษานี้บอกกับเราว่าควรคิดให้ดีก่อนซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาถูกที่เห็นโฆษณาอยู่ใน Facebook เพราะมีความเป็นไปได้ว่ามันจะเป็นของปลอม

นักวิจัยทดลองด้วยการสร้างแอคเคาท์ปลอมขึ้นมา 12 แอคเคาท์ และเลือกสุ่มตัวอย่างโฆษณาใน Facebook จำนวน 1,067 ชิ้น ในจำนวนนี้มีโฆษณาสินค้าประเภทแฟชั่นและแบรนด์เนมจำนวน 180 ชิ้น ซึ่งมีโฆษณาจากเว็บไซต์ขายของแบรนด์เนมปลอม 43 ชิ้น เว็บไซต์เหล่านี้จะใช้เทคนิคหลอกล่อ (เช่น ราคาถูกมาก ลดราคาเยอะมาก) ดึงให้ผู้ใช้งาน Facebook คลิกเข้าไป หน้าตาของเว็บก็จะเหมือนของจริงแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ URL และโลโก้ของบริษัทที่สนับสนุนระบบรักษาความปลอดภัยของการชำระเงินในเว็บไซต์

นักวิจัยยังบอกอีกว่าโดยมากแล้วโดเมนเนมของเว็บไซต์เหล่านี้ถูกจดทะเบียนในจีน และอีเมลของผู้ที่เป็นเจ้าของก็เป็นแอคเคาท์ของจีน ซึ่งมันก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าแอคเคาท์เหล่านี้จะดำเนินการโดยบริษัทในจีน ถึงแม้นักวิจัยจะบอกว่ามีหลักฐานหลายๆ อย่างที่ชวนให้เข้าใจไปแบบนั้น

ประเด็นของบทความนี้ก็คือ นักวิจัยออกมาเรียกร้องว่า Facebook ควรจะดูแลและปกป้องผู้ใช้งานจากเว็บไซต์เหล่านี้ ถึงแม้ว่า Facebook จะยังไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าวแบบตรงๆ แต่โฆษกของ Facebook ก็ได้ให้สัมภาษณ์ผ่าน Bloomberg ว่าทางบริษัทก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ สำหรับเรื่องนี้ และกำลังพยายามถอดโฆษณาเหล่านี้ออกไป รวมทั้งยังรับฟังการร้องเรียนเว็บไซต์สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จากผู้ใช้งานอีกด้วย

ข้อมูลที่ Mashable นำเสนอมานี้เป็นเพียงข้อมูลจากการวิจัยเท่านั้น จริงๆ แล้วบอกได้ยากมากว่ามีโฆษณาสินค้าปลอมแปลงเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนเท่าไรใน Facebook และถูดถอดออกไปเท่าไร เนื่องจากทาง Facebook ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้กับสาธารณะ ไม่เหมือนกับที่ Google เคยออกมาชี้แจงว่าได้ถอนโฆษณาแบบนี้ออกไปมากกว่า 350 ล้านชิ้นในปี 2013 และเกือบๆ 220 ล้านชิ้นในปี 2012 ผ่านรายงานความโปร่งใส หรือ transparency report ของบริษัท