Site icon Thumbsup

เล่าสู่กันฟัง สิ่งที่ (เพิ่ง) เรียนรู้จากการทำข่าว Startup

นึกได้ว่าเริ่มเขียนบทความให้กับ Thumbsup มา 1 เดือนพอดิบพอดี ได้โอกาสไปทำข่าวเกี่ยวกับ Startup อยู่บ้าง จากที่เคยเป็นผู้ใช้งานทั่วๆ ไป ก็มีโอกาสได้เรียนรู้เบื้องลึกเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นแอปพลิเคชั่นแต่ละตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จากที่เคยเข้าใจว่า Startup คือธุรกิจสำหรับมนุษย์ Geek IT เท่านั้น ก็ต้องเปลี่ยนความคิด และอีกหลายๆ อย่างที่ได้เรียนรู้มา ขอนำมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ เพื่อสะท้อนมุมมองของคนทั่วๆ ไป ที่มีต่อวงการนี้ก็แล้วกัน 

อายุเป็นเพียงตัวเลข

เมื่อก่อนนี้ผู้เขียนเองก็เคยเข้าใจว่า Startup คือผู้ประกอบการเทคโนโลยีที่ยังอายุน้อยๆ อาจจะเป็นเด็กในรั้วมหาวิทยาลัยหรือเด็กเพิ่งจบการศึกษาที่มีไอเดียสดใหม่  หรือถ้าจะมองในแง่บริษัท ก็คงต้องเป็นบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ มันมีคำว่า Start เลยชวนให้เข้าใจไปแบบนั้น

ฟังดูก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่นั่นเป็นความคิดที่คับแคบไปนิดนึง

Khailee Ng ตัวแทนจาก 500 Startup เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในงานแถลงข่าวลงทุนกับ Claim Di ว่าเขาไม่สนใจเรื่องอายุของ CEO หรือธุรกิจนี้จะก่อตั้งมานานแค่ไหน เขาสนใจแต่ว่า CEO รู้หรือเปล่าว่าลูกค้าเป็นใคร จะเข้าหาลูกค้าได้อย่างไร และมีต้นทุนในการเข้าหาคนเหล่านั้นเท่าไร (ตัวเลขเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่ควรจะนึกถึงมากกว่าอายุหรือจำนวนปีของการก่อตั้งบริษัท) พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ วิสัยทัศน์ทางธุรกิจต่างหากที่จะดึงความสนใจของนักลงทุนได้ ไม่เกี่ยวกับอายุ เพศ และการศึกษา ดังนั้น Startup จึงเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ การมองเห็นโอกาส และ Mindset มากกว่า

Startup ไม่ใช่งานฉายเดี่ยวของโปรแกรมเมอร์


อย่างที่บอกว่าความเข้าใจเบื้องต้นที่ผู้เขียนมีต่อ Startup คือมันเป็นเรื่องของ Geek IT ภาพที่มีอยู่ในหัวคือคนใส่แว่นหนาๆ นั่งเขียนโปรแกรมต๊อกแต๊กอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน และแน่นอนว่าเราจะฟังเขาพูดไม่รู้เรื่อง ดังนั้นจึงเข้าใจไปว่า Startup อาจจะเป็นการทำงานแบบ One (Geek) Man Show

ความจริงคือการเขียนโปรแกรมเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของ Startup เท่านั้น เพราะเบื้องหลังของแอป 1 แอป คือข้อมูลจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่รองรับแนวคิด หรือข้อมูล insight จากกลุ่มลูกค้า  ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการทำธุรกิจย่อมต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย Startup ก็เช่นกัน  ดังนั้นทีมเวิร์คหรือเครือข่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก  จะเป็น One Man Show ไม่ได้ (อย่าลืมว่าเบื้องหลัง Steve Jobs ยังมี Jony Ive และคนอีกมากมาย)

และที่สำคัญที่สุด เจ้าของธุรกิจ Startup จะต้องมีความรู้เรื่อง Business Model คือต้องรู้ว่ารายได้ของธุรกิจจะมาจากไหน ด้วยวิธีการอะไร และต้องมีทักษะการเจรจาต่อรองกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ

นั่นหมายความว่า ต่อให้คุณเขียนโปรแกรมไม่เป็น คุณก็เป็นผู้ประกอบการสายนี้ได้ เพียงแค่ต้องมองเห็นโอกาส ช่องว่างของตลาด มีทีม เครือข่าย และอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น CEO ของ Course Square เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มองเห็นว่ายังมีช่องทางทำรายได้ให้ผู้สอนและช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้ หรือ CEO ของ Vetside.net ก็เป็นสัตวแพทย์ที่เล็งเห็นว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ยังขาดคอมมิวนิตี้เฉพาะของสัตวแพทย์ที่จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เป็นต้น

ความคิดเจ๋งๆ ไม่ได้ตกมาจากฟ้า


ที่มาที่ไปของสินค้าและบริการประเภทที่เราเห็นแล้วนึกในใจว่า “คิดได้ไง” ดูเหมือนจะเป็นความลับในหลุมดำ ในฐานะผู้ใช้งานปลายทางคนนึงที่เคยสงสัยว่าไอเดียแบบนี้มาจากไหน ทำไมเขาถึงเลือกที่จะทำแอปพลิเคชั่นแบบนี้ออกมาขาย ทำไมเขาเลือกที่จะสร้าง Solution แบบนี้  และถ้าจะนึกถึง Geek ตัวพ่อสักคนก็คงหนีไม่พ้น Steve Jobs ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่เกิด หรือว่ามันจะเป็น Competency เฉพาะตัวที่คนธรรมดาๆ เลียนแบบไม่ได้ ?

ปรากฏว่าไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและง่ายดายกว่านั้น เพราะจากที่ได้ฟังการ Pitch งานของบรรดา Tech Startup ก็พบว่าเขาไม่ต้องไปมองหาไอเดียจากที่ไหนไกลๆ เลย จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ประกอบการน่าจะเริ่มมาจากการมองเห็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งของตัวเอง และการสังเกตคนรอบตัว จากนั้นจึงคิด Solution ที่เป็นไปได้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

Khailee Ng (อ้างพี่คนนี้อีกแล้ว) บอกว่าไอเดียแบบนี้มันไม่ได้ตกลงมาจากฟ้า แต่มันมาจากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ คนเก่งมาแต่เกิดนั้นมีอยู่จริง แต่คนส่วนมากเก่งเพราะประสบการณ์

มันอาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เหมือนที่บรรดา Geek ตัวพ่อเคยทำไว้ก็ได้ เพราะประเด็นมันอยู่ที่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของคนบางกลุ่มที่อาจจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ต่างหาก โดยส่วนตัวแล้วจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีควรจะเติมเต็มชีวิตของผู้คนได้ทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และทำให้ชีวิตของ “ทุกคน” ง่ายขึ้นได้จริง

สรุปคือไม่จำเป็นต้องทำให้ใหญ่ ทำน้อยๆ แต่ต้องทำให้ดี

สิ่งเหล่านี้ที่ได้เรียนรู้มาบอกกับเราว่า Startup เป็นมากกว่าเรื่องของ Geek จริงๆ นั่นแหละ เพราะการจะตกผลึกความคิดเหล่านี้ได้ ต้องออกไปพบปะผู้คน ช่างสังเกต แลกเปลี่ยนไอเดีย ทดสอบแนวคิด เก็บข้อมูลมาสังเคราะห์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการมองหาช่องว่างของตลาดเพื่อทำธุรกิจแล้ว ก็ต้องอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคมด้วย

สุดท้ายนี้หวังว่าสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มาในเวลา 1 เดือนนี้ จะเป็นประโยชน์กับคนอ่านบ้าง  (ลงท้ายเชยๆ เหมือนคำนำในรายงานสมัยมัธยมเลยนะ)

ขอบคุณที่ติดตามกันมาค่ะ และสุดท้ายอีกที รักคนอ่านนะคะ ^^