Site icon Thumbsup

TK Park ขานรับ Thailand 4.0 ปรับโฉมสู่ “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล”

ใครที่แวะไปเยี่ยมเยือน Central World กันบ่อยๆ คงต้องเคยผ่านตากับชื่อของ “TK Park” ห้องสมุดมีชีวิตขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่บนชั้น 8 Dazzle Zone ของศูนย์การค้าดังกล่าวกันมาบ้าง และใครที่เป็นสมาชิกก็คงสัมผัสได้ดีถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีข้อมูลขนาดมหึมาให้ศึกษา และมี Facilities อื่นๆ ที่ตอบโจทย์ของนักเรียนรู้ได้อย่างลงตัว

ในวันที่ประเทศไทยต้องการก้าวสู่ Thailand 4.0 ห้องสมุดยักษ์ใหญ่แห่งนี้ก็ไม่พลาดที่จะขานรับนโยบายของภาครัฐด้วยการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ในยุคดิจิทัลเต็มไปรูปแบบ เห็นได้จากการประกาศแผนการดำเนินงานปี 60 ภายใต้แนวคิด “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล” หรือ “Learning in Digital Age” ซึ่งเป้าหมายก็คือ การพัฒนาศักยภาพประชากรของประเทศให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอาชีพในอนาคต โดยจะมีการขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ TK park ทุกระดับ โดยให้ความสำคัญพิเศษกับจังหวัดชายแดนใต้

คุณราเมศ พรหมเย็น

คุณราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และ นโยบายสู่ Thailand 4.0 ที่มีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาประชากรให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยนำฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดพัฒนาเพื่อยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีรายได้ระดับสูงใน 20 ปีข้างหน้านั้น

การดำเนินงานของ TK park ในปี 2560 ได้ขานรับและมีทิศทางมุ่งเน้นในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ พร้อมกับปรับกระบวนการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัลด้วยการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงาน ทั้งเว็บไซต์ Digital TK, ห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library), สร้างสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ฯลฯ

ในส่วนห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library) ก็มีหนังสือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งองค์ความรู้ประเภทต่างๆ และสารพันบันเทิง รวมทั้งรูปแบบมัลติมีเดียมากกว่า 10,000 เล่ม ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 23,000 คน มีปริมาณการยืมอ่านรวม 70,000 ครั้งตั้งแต่เปิดให้บริการตลอด 1 ปีกว่าด้วย

ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 19 แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นี้ มีกำหนดเปิดให้บริการใหม่อย่างน้อย 2 แห่งที่สำคัญ ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี (ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) และ อุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา (TK Square Korat) โดยอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการแล้วนั้นจะกำหนดให้มีการเชื่อมโยงระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบฐานข้อมูลหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เข้ากับอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบเพื่อที่ผู้เข้าใช้บริการของ TK park เครือข่ายสามารถสืบค้นและนำไปศึกษาได้อย่างสะดวก

ก้าวต่อไปของ TK park จึงอาจเป็นการมองไปข้างหน้าเพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน แม้ในยุคที่ข้อมูลดิจิทัลเข้ามาแทรกอยู่ในไลฟ์สไตล์เต็มไปหมดเช่นทุกวันนี้