Site icon Thumbsup

วงสัมมนาชี้ธุรกิจไทยเดินหน้าไอทีมากขึ้น เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจ

เรื่องของการเดินหน้านวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับภาครัฐและเอกชนในไทยนั้น ต้องยอมรับว่าเริ่มตื่นตัวมากขึ้นกว่าในอดีตเพราะภาคธุรกิจเริ่มรู้แล้วว่าหากไม่ปรับตัวให้ทัน จะเสียโอกาสและรายได้มหาศาล โดยบนเวทีสัมมนาของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) มีเนื้อหาที่น่าสนใจบนเวทีมากมายเลยนะคะ และทาง Thumbsup จะมาสรุปสิ่งที่น่าสนใจให้ค่ะ

จากปาฐกถาในหัวข้อ Realizing Digital Thailand โดยคุณพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เล่าว่า คำว่า Disruption กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว หากผู้บริหารระดับสูงตระหนักรู้และมีการพัฒนาตามเทรนด์ หากใครมีไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ก็หาโอกาสใหม่ๆ จับมือคู่ค้าใหม่ ถึงจะเรียกว่าเป็นโอกาสของผู้ชนะ

นอกจากนี้เทรนด์ Fintech, Startup, Digital Disruption ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้ว หากรู้จักปรับตัวตามให้ทัน ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนเม็ดเงินเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานในองค์กรอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนเครื่องมือสำหรับอนาคต เพื่อเดินหน้าธุรกิจให้ทันสมัยและตามผู้บริโภคได้ทัน

แม้ว่าการพัฒนาดิจิทัลในยุคนี้ จะเน้นเรื่องการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาใช้งาน แต่การใช้ระบบอัจฉริยะต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่องค์กรมองเห็นความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน อย่างเช่นการนำเทคโนโลยี Cognitive มาใช้พัฒนาระบบความปลอดภัยและระบบสั่งการต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพของธุรกิจ เป็นต้น

เช่นเดียวกับ ในวงอภิปราย Powering Business Competitiveness through Digitalization โดยดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ Country Manager ของ Amazon Web Service ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเลคทรอนิคส์ (องค์กรมหาชน) นายสุวัฒน์มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น ดร.กำพล ศรธนะรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ โสจิพรรณ วัชโรบล Executive Director บริษัท ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) ที่ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ว่า

ธุรกิจเร่งลงทุนไอที

ภาคธุรกิจค้าปลีก ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุนด้าน IT เยอะมาก ซึ่งแน่นอนว่าเม็ดเงินของการลงทุนช่วงแรกอาจจะสูง แต่ระบบต่างๆ ที่ลงทุนไปสามารถตอบสนองด้านความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี หรือการทำ Private Banking ของกลุ่มธุรกิจธนาคาร ที่แต่เดิมจะให้บริการเฉพาะลูกค้าระดับสูง ก็ปรับมาให้บริการแก่ลูกค้าทุกระดับ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางมาที่สาขาได้ดีขึ้น ทำให้สามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และเพิ่มโอกาสทางรายได้ใหม่ๆ

ทั้งนี้ การลงทุน IT สำหรับองค์กรทุกระดับไม่ใช่เรื่องของกระแสอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เพราะเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสามารถเข้าถึงคนหมู่มากและสร้างฐานรายได้ใหม่ๆ ได้ หากสามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ได้

ยกตัวอย่าง เทคโนโลยีที่มีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ เช่น AI ที่ดึงเรื่องของ Voice, Image, Video และ Technology ต่างๆ มาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการให้บริการทีดีขึ้น เช่น Pinterest ที่มีมูลค่าทางธุรกิจกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็นำเรื่องของวิเคราะห์ภาพเพื่อหาโอกาสเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ที่มีความชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน จนเกิดช่องทางรายได้ เช่น กลุ่มเสื้อหา กระเป๋า สินค้าแฮนด์เมด ที่นอกจากนำเสนอสินค้าแล้วยังลิ้งไปยังต้นทางเพื่อหาโอกาสทางรายได้ใหม่ๆ ด้วย หรือแม้แต่จานซูชิบนสายพานก็มีการติดเครื่องมือแบบ IOT ไว้เพื่อดูว่าเมนูไหนลูกค้าสั่งเยอะ เมนูไหนลูกค้ากินไม่หมด เพื่อวิเคราะห์หาพฤติกรรมและปรับรูปแบบเมนูอาหารให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนก็พยายามที่จะตอบสนองธุรกิจเรื่องการเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ด้วยราคาต้นทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือนวัตกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ได้เลย ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องลงทุนใหม่ หรือเริ่มต้นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพราะเสียเวลาและต้นทุน ทำให้ผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมต่างก็ต้องพยายามนำเสนอเครื่องมือที่เหมาะสมให้ธุรกิจเหล่านี้เลย

หรือแม้แต่สตาร์ทอัพเอง ก็มีเครื่องมือที่น่าสนใจเข้ามานำเสนอได้ตรงจุดกับความต้องการของลูกค้ามากกว่า เพราะเข้าใจในพฤติกรรมและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นได้ดี