Site icon Thumbsup

ตลาด e-commerce จีนดุเดือด Tmall ยอมแบกรับต้นทุนสินค้าเพื่อให้ราคาถูกกว่า 360Buy

ภาพประกอบจาก?Whatsonchengdu

ตลาด e-commerce ของจีนถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ดุเดือดที่สุดของโลก ไม่ว่าจะเป็นกำลังการลงทุนของแต่ละเจ้า, จำนวนฐานลูกค้าที่ใช้งาน, เม็ดเงินในตลาด ฯลฯ ทำให้ตลาดนี้มีความกดดันไม่น้อยแม้จะยังเป็นตลาดที่เติบโตได้อีกมากและเป็นที่ดึงดูดของรายใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศก็ตาม ล่าสุด Tmall ยักษ์ใหญ่ของจีนรายหนึ่งถึงกับปรับกลยุทธ์เพื่อจะต่อกรกับคู่แข่งให้ดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก

Tmall ซึ่งเป็นธุรกิจ e-commerce ที่มี Alibaba เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นได้ออกแผนการต่อกรกับ 360Buy ใหม่อีกระลอก โดย Tmall ตั้งใจที่จะทำให้ราคาของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะหน่ายบนเว็บของตัวเองถูกลงไปอีกด้วยการใช้งบเกือบ 1,000 ล้านบาทในการแบกรับต้นทุนของสินค้าบางส่วน ซึ่ง Tan Biao ผู้บริหารของ Tmall มั่นใจว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้ Tmall ชนะในการต่อสู้นี้

Tmall ตั้งเป้าไว้ว่ามาตรการแบกรับต้นทุนของสินค้าในครั้งนี้จะช่วยดันยอดขายของเว็บให้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในไตรมาสสองนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทยังมองว่ากลยุทธ์นี้เป็นการจู่โจมร้านตัวแทนจำหน่ายแบบดั้งเดิมรายอื่นๆ ด้วย เนื่องจาก e-commerce เป็นช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายกว่า นอกจากนั้นยังประหยัดกว่าเพราะไม่ต้องแบกรับต้นทุนของตัวกลาง แต่ถึงกระนั้น การแบกรับต้นทุนในครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความซื่อสัตย์ของลูกค้านัก

ภาพประกอบจาก?Want China Times

หากมองในระยะสั้นแล้ว การต่อสู้ด้วยราคาในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน แต่ในระยะยาวแล้ว เมื่อมีผู้ชนะและผู้แพ้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อผู้แพ้ต้องพับเสื่อออกไปจากการแข่งขัน ผู้บริโภคกลับเป็นคนที่จะเสียผลประโยชน์เพราะการแข่งขันลดลงและตัวเลือกน้อยลง นอกจากนั้นราคาของสินค้าก็จะกลับมาเทียบเท่าหรือสูงกว่าเดิม

ความเห็นผู้แปล: การแข่งขันด้วยราคาจะยังคงอยู่ในตลาดที่ร้อนแรงไม่ว่าจะเป็นประเทศหรืออุตสาหกรรมใดก็ตามเพราะเป็นการต่อกรกับการแข่งขันที่ง่ายและดำเนินการได้รวดเร็วที่สุด ประกอบกับมีความซับซ้อนในการวางแผนน้อยที่สุด แต่ในระยะยาวแล้วการสู้ด้วยราคาไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับธุรกิจใดๆ เลย สิ่งที่ Tmall ทำไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจ แต่สิ่งที่ Tmall หรือแม้แต่ธุรกิจรายอื่นๆ ควรทำคือหันมาพัฒนาทางด้านแบรนด์, กิจกรรมทางการตลาด, การพัฒนาสินค้าและบริการร่วมกับผู้ผลิตและช่องทางการจัดจำหน่าย หรือแม้แต่การจับมือกับธุรกิจอื่นๆ ที่ส่งเสริมกันบนโลกออนไลน์ เพราะการสร้างมูลค่าเพิ่มเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจมีความแตกต่างจากลูกค้าและช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้โดยไม่ต้องกระโดดลงมาสู่สมรภูมิราคา ซึ่งนอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรักษาฐานรายได้ไว้ได้แล้ว มูลค่าเพิ่มเหล่านี้จะช่วยปรับมุมมองและพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภคให้โตขึ้นซึ่งจะดีกับธุรกิจในระยะยาวมากกว่า

เราคงต้องมาติดตามกันต่อไปว่า Tmall จะได้รับผลลัพธ์อย่างที่คาดหวังหรือไม่ และ e-commerce รายอื่นๆ เตรียมตัวที่จะต่อกรกับการจู่โจมนี้อย่างไร

ที่มา:?Tech in Asia