Site icon Thumbsup

เทรนด์จากงาน SXSW ที่คนทำธุรกิจควรรู้! โดย พงศ์สิริ เหตระกูล ผู้บริหาร Nylon Thailand

เทคโนโลยีและธุรกิจบนโลกใบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นทุกปี การเข้าร่วมงานอีเว้นท์เพื่ออัพเดทเทรนด์และความรู้ต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หนึ่งในอีเว้นท์ที่คนสายธุรกิจมีเดีย ดนตรี และเทคโนโลยี ไม่พลาดที่จะเข้าร่วม คงหนีไม่พ้นงาน South by Southwest หรือ SXSW นั่นเอง

ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ Thumbsup.in.th ได้คุยกับผู้บริหารนิตยสารและผู้จัดงานดนตรีที่ได้ไปร่วมงาน SXSW อย่าง ‘พงศ์สิริ เหตระกูล’ กรรมการผู้บริหารเครือนิตยสารแม่บ้าน ที่มีนิตยสารหลายแบรนด์อยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารแม่บ้าน, Nylon Thailand, Time Out Bangkok และอื่นๆ เป็นต้น รวมถึงยังเป็นผู้จัดงานดนตรีอย่าง Sofar Sounds Bangkok อีกด้วย

วันนี้เขาจะมาเล่าถึงการเดินทางร่วมกับทีมงาน Fungjai ไปอีเว้นท์ใหญ่ที่รวมเทรนด์ที่คนทำธุรกิจต่างๆ (โดยฉพาะสายเทคโนโลยี, คอนเทนต์, มาร์เก็ตติ้ง และดนตรี) ควรจับตาและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง มาให้ชาว Thumbsuper ได้ฟังกันครับ

แล้วถ้าปัญญาประดิษฐ์มันมีความสามารถสูงมากแบบนี้ มนุษย์เรายังมีพื้นที่ไหนที่เหลืออยู่ให้เก่งกว่าปัญญาประดิษฐ์บ้างหรือเปล่า การใช้ความรู้สึกและสัญชาติญาณ (Empathy) คือสิ่งที่มนุษย์ยังทำได้ดีกว่าปัญญาประดิษฐ์ อย่างน้อยก็ในระยะนี้พักใหญ่ๆ

‘พงศ์สิริ เหตระกูล’ คือใคร?

ทุกวันนี้ ‘พงศ์สิริ เหตระกูล’ หรือ ‘ต้อม’ เป็นเจ้าของมีเดียแบรนด์อยู่หลายแบรนด์ เช่น Time Out Bangkok, Nylon Thailand, นิตยสารแม่บ้าน และมีอีกหลายๆ แบรนด์ในบริษัท ปัจจุบันพงศ์สิริดำรงตำแหน่งกรรมการผู้บริหารเครือนิตยสารแม่บ้าน

นอกจากทำธุรกิจสื่ออย่างนิตยสารและสื่ออนไลน์แล้ว เขายังทำงานอีเว้นท์ มิวสิคเฟสติวัล ปาร์ตี้ คอนเสิร์ตต่างๆ ไปจนถึงงานคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่จัดเอง อย่างงานชื่อ Sofar Sounds Bangkok อีกด้วย

SXSW คืองานอะไร ทำไมคนทำธุรกิจต้องให้ความสนใจ?

ต้องยอมรับว่ามีเดียและธุรกิจคอนเทนต์เป็นอะไรที่ถูก Disrupt ตลอดเวลา แพลตฟอร์มที่มาอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ 4-5 ปีเปลี่ยนทีเดี๋ยวนี้ แล้วเราก็อยากจะรู้ก่อนว่าอะไรจะเกิดขึ้น

SXSW ต้องเรียกว่าเป็น Trendsetter ของโลก เขามักจะมีคำพูดไว้ว่า อะไรก็ตามที่เกิดใน SXSW แล้วดังได้ อีกสัก 6 เดือนมันจะดังทั่วโลก ดังนั้นแล้ว ผมคิดว่ามันจะเป็นที่ที่ถ้าเราไปแล้ว เราน่าจะได้รู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ก่อนคนอื่นเขา สักปีนึงถึงสองปี

ส่วนใหญ่หัวข้อที่ผมเข้าไปฟัง มักจะเป็นหัวข้อที่กำลังดังอยู่ใน SXSW ปีนั้น ถ้าสัก 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องที่ดังก็เป็นเรื่อง AI (ปัญญาประดิษฐ์) VR (เทคโนโลยีจำลองสภาพเสมือนจริง) เดี๋ยวนี้เขาก็จะมีศัพท์อื่นๆ ที่ไปไกลกว่า VR (Beyond VR) อย่างฝั่ง Experiential หรือการสร้างประสบการณ์ต่างๆ แล้วเหมือนกัน

ในงาน SXSW พูดถึง VR อย่างไรบ้าง?

ผมว่าผมอาจจะต้องเกริ่นเรื่อง VR ก่อนเนอะว่ามันคืออะไรกันแน่  หลักๆ ก็คือ VR หรือ Virtual Reality เหมือนกับหนังเรื่อง Ready Player One เลย VR คือการสร้างโลกเสมือนขึ้นมา แล้วมีอุปกรณ์ชิ้นนึง ก็มักจะเป็นแว่นเอาไว้ใส่ให้เราเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน

VR ในปัจจุบันเขาพูดกันในแง่ว่าจะมา disrupt วงการ experiential content (คอนเทนต์ที่เสริมสร้างประสบการณ์ในการรับรู้) แล้ว experiential content มีทั้งคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ การท่องเที่ยว มิวสิคเฟสติวัล อีเว้นท์ใหญ่ๆ ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้เป็น experiential content ที่กำลังจะถูกทำให้เป็นจริงได้ง่ายขึ้นด้วยเครื่องมือ VR

แทนที่เราบอกว่า เราจะต้องย้ายคนไปอยู่ในที่ที่นึง เพื่อจะได้รับประสบการณ์ทั้งหลาย อย่างการท่องเที่ยว งั้นเรานั่งอยู่กับบ้าน ใส่แว่นอันนึง แล้วก็เสียตังค์ไม่เท่าไหร่ เปิดคอนเทนต์ๆ นึงดู แล้วไปดำน้ำกับปลาวาฬในมหาสมุทรลึกก็ได้ คุณกระโดดเล่นบนดาวอังคารก็ได้ คุณไปฟังคอนเสิร์ตบนวงแหวนดาวเสาร์ได้

แต่สิ่งที่มันจะเป็นข้อดีของ VR สุดๆ เลย คือมันเปิดทางให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่สามารถเกิดในโลกความเป็นจริงได้ เรื่องใหญ่ของ VR ก็ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากจะดูคอนเสิร์ตของ Red Hot Chili Peppers ที่ปีระมิตกีซ่า ผมคิดว่าดูมันส์สุดๆ คงประมาณนั้น

สิ่งที่ภาคธุรกิจควรระวังตัวจากการเข้ามาของ VR

แต่ก่อนธุรกิจดนตรี ต้องใช้คำว่าเคยถอยมาเยอะ เมื่อก่อนเขาเคยสร้างรายได้จากซีดี จากการขายเพลง ทุกวันนี้มันก็ขายซีดีไม่ได้แล้ว เขาก็ถอยมาสเต็ปนึงแล้ว อาจจะได้จากสตรีมมิ่งบ้าง แต่ก็ถอยมาสเต็ปนึงแล้ว

ยังเหลือสิ่งที่เขามีรายได้อยู่ นั่นคือการขายโชว์ ทีนี้คือการขายโชว์ครั้งละหลักแสนเนี่ย 4-5 ปีข้างหน้ามันเป็นไปได้ว่ากำลังจะถูกทดแทนด้วย VR

ถ้าเราอยากจะดูโชว์ของวงนี้ สมมุตินะ Bruno Mars จะมาเมืองไทย เราต้องใช้ตังค์ประมาณสัก 5-6 พันบาทถ้าอยากจะไปนั่งอยู่ข้างหน้า เราเกิดบอกว่าวันนี้ คุณดู Bruno Mars นั่งอยู่ตรงนี้ 5 เมตรจากคุณ เอามือไปแตะเขาได้ ไม่ไ่ด้มีความรู้สึกไปแตะจริงๆ นะ แต่เอื้อมไปได้ในราคาพันเดียว น่าจะมีคนเอานะ

คือวงการดนตรีมันจะเกิดอย่างนั้นขึ้น อย่างน้อยสิ่งที่วงการดนตรีต้องเตรียมตัวกันหน่อย คือ เงินที่เคยทำได้จากฝั่งโชว์ มันอาจจะต้องไปสร้างจากแพลตฟอร์มอื่น แล้วยังไม่มีใครพูดได้ว่า มันจะสร้างเงินได้เท่ากันหรือน้อยลงหรือมากขึ้น ไม่แน่ใจ

สิ่งผมกังวลคือทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เจ้าของเทคโนโลยีมันได้เงิน แต่คนสร้างคอนเทนต์ได้เงินน้อยลง

SXSW พูดถึง AI มากน้อยแค่ไหน?

ต้องเรียกว่า SXSW มีคนสาย creative อยู่เยอะ Startup เอย Creative People อยู่เยอะมาก ตอนนี้ AI มันเริ่มสร้างความหวาดกลัวให้คนสาย creative เพราะว่าเมื่อสักประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว อยู่ดีๆ มันเริ่มมีเคสว่า AI สร้างสรรค์ได้ดีกว่าคนมากๆ มาหลายครั้ง

ข่าวใหญ่ๆ เลย ก็อย่าง AI เล่นโกะชนะ ซึ่งโกะเป็นเกมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ สมมุติเราเดินหมาก มาหมากนึง มันมีความเป็นไปได้หลังจากนี้อีกหลายสิบหลายร้อยความเป็นไปได้มากเลย และพอหลังจากหลายร้อยนั้น มันก็ข้ามไปอีกสเต็ปนึง ข้ามไปอีกสเต็ปนึง กลายเป็นพันเป็นหมื่นไปแล้ว เพราะงั้นคนที่จะมองสเต็ปได้ไกลขนาดนี้ ตอนนี้คอมพิวเตอร์ทำได้เก่งกว่าคนแล้ว

ทีนี้หลักการที่ว่า ถ้าเกิดเรานิยามคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” คือความสามารถในการเลือกเส้นทางอื่นๆ ความสามารถในการหาทางเลือก ถ้าเกิดว่าความคิดสร้างสรรค์คือนิยามนั้น วันนี้ AI เก่งกว่าคนแล้ว AI แต่งเพลงแล้วก็ได้ AI แต่งหนังสือก็ได้

ผมเคยเห็น AI บีทบ็อกซ์แข่งกับคน แล้วมันบีทบ็อกซ์ยากกว่าคนอีก แล้วมันฟังดูมนุษย์ ไม่ได้ดูแข็งเหมือนคอมพิวเตอร์เล่นดนตรี มันฟังดูมนุษย์แล้ว ความสามารถด้าน creative อื่นๆ AI มันเริ่มเก่งกว่าคนแล้ว ก็เลยเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า แล้วฉันจะมีที่อยู่ไหมเนี่ยมนุษย์สาย creative ทั้งหลาย

สิ่งที่ภาคธุรกิจควรระวังตัวจากการเข้ามาของ AI

ดังนั้นแล้ว Production เบื้องต้น ไม่ต้องการระดับของงานศิลปะที่สูงมาก เช่น การทำเพลงโฆษณา เช่นการเขียนก๊อปปี้ในวงการโฆษณา มันมีความเป็นไปได้สูงว่า AI จะมา

จริงๆ แล้วที่เขาตกใจกันก็เพราะ ก่อนหน้านี้คนเขาปฏิเสธเรื่องนี้กัน เขาปฏิเสธว่า ไม่ AI มันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้สิ อย่างมากมันก็คิดเลขเร็วกว่าเรา อย่างมากมันก็ process ข้อมูลทางสถิติได้เร็วกว่าเรา แต่ว่ามันย่อมคิดเองหรือ creative ไม่ได้ วันนี้มัน creative ได้และมันเก่งกว่าเราแล้ว

ทุกวันนี้ทุกคนอาจจะมีคำถามนะครับว่า แล้วถ้าปัญญาประดิษฐ์มันมีความสามารถสูงมาก มนุษย์เรายังมีพื้นที่ไหนที่เหลืออยู่ให้เก่งกว่าปัญญาประดิษฐ์บ้างหรือเปล่า

การใช้ความรู้สึกและสัญชาติญาณ (Empathy) คือสิ่งที่มนุษย์ยังทำได้ดีกว่าปัญญาประดิษฐ์ อย่างน้อยก็ในระยะนี้พักใหญ่ๆ ดังนั้นถ้าเกิดจะถามว่า เราจะมีความสามารถมากกว่าปัญญาประดิษฐ์ได้มากกว่าตรงไหน

คำตอบก็คือ Empathy มันคือสิ่งที่เราต้องรักษาไว้ แล้วก็พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นสิ่งที่ในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์ยังแย่งงานเราไม่ได้

คลิปสัมภาษณ์