Site icon Thumbsup

ใหญ่กว่าแล้วไง? topvalue มั่นใจเป็นแพลตฟอร์มคนไทยที่มาแรง

“ถ้าซื้อของแล้วเจอถูกกว่า ยินดีคืนเงิน” ผู้บริหารหนุ่ม ธนากร แซ่ลิ้ม กล่าวเปิดใจกับ thumbsup ในวันที่ไปสัมภาษณ์เขา เพราะอยากขายของถูกและคุณภาพดีให้กับผู้ซื้อ  ที่ถึงแม้อีคอมเมิร์ซไทยจะมีการเติบโตจะผูกติดกับเจ้าตลาด  แต่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของคนไทยอย่าง topvalue ก็มั่นใจว่ามีโอกาสเติบโตในธุรกิจได้เช่นกัน

**กรณียังไม่เปิดใช้สินค้า  และไม่ใช่การลดกระหน่ำแบบนาทีทอง

จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ

ก่อนหน้าจะมาทำ topvalue คุณธนากรทำธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับออนไลน์เลย  โดยทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์  และแม่พิมพ์บรรจุภัณฑ์  ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นงานในส่วนออฟไลน์มากๆ

แต่คิดว่าออนไลน์คือโอกาส  เพราะช่วงนั้นเทรนด์การชอปปิ้งออนไลน์ในต่างประเทศเริ่มที่จะเข้ามาแล้ว ทำให้มั่นใจว่าการซื้อขายจะเคลื่อนจากออฟไลน์ไปในออนไลน์แน่ๆ มีการลองผิดลองถูก  ในช่วงแรกได้ปั้นตัวเองเป็น Marketplace  แต่ก็พบว่าไม่เหมาะกับธุรกิจ เพราะต้องเป็นเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเงินทุนมหาศาลในการโฆษณาจึงจะทำได้  จนทำให้เขาเปลี่ยนมาจับตลาด B2C แล้วขายสินค้าเอง

โดยตอนนี้เน้นขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก  พร้อมสโลแกนว่า ” ช้อปเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาคุ้มค่า  ที่ topvalue ” ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาคุ้มค่า  แต่ว่าถูกกว่าที่อื่น

อีคอมเมิร์ซคือโอกาสขนาดใหญ่

มองว่าอีคอมเมิร์ซนั้นมีโอกาสโตแน่นอน  เพราะตลาดมันใหญ่มาก  อย่างการที่เมื่อก่อนคนไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า  แต่จริงๆ ห้างสรรพสินค้าใช้ต้นทุนสูงมาก  ซึ่งอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก  หากเมื่อก่อนที่ทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ทำเต็มที่แค่ไหนมูลค่าตลาดก็อาจจะมากสุดพันล้านบาท  ไม่สามารถขยายไปได้มากกว่านี้แล้วต่างจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ซึ่งเรายังมีโอกาสและคิดว่าควรจะย้ายมาทำธุรกิจด้านนี้ดีกว่า  โดยเลือกเข้าสู่การขายออนไลน์แทนการทำห้างสรรพสินค้า  เพราะก่อนนี้มีห้างหลายแห่งแล้วที่ทำกันมานานจนเหมือนก่ออิฐมา 50 ปี  แต่อยู่ดีๆ ถ้าเรามาเริ่มต้นก็อาจสู้ด้วยยาก  ทั้งเรื่องของทุน ประสบการณ์ ทีมงาน  แต่ในทางกลับกันการทำออนไลน์เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องเริ่มต้นเหมือนกัน

ขยับมายืนที่ต้นน้ำ

ย้อนกลับไปธุรกิจที่ทำนั้นอยู่ท้ายไลน์ของวงจร (ธุรกิจบรรจุภัณฑ์)  จึงอยากกระโดดมาอยู่ที่ต้นน้ำธุรกิจที่ตลาดใหญ่มากๆ  เหมือนเมื่อก่อนเราอยู่ในคลองแล้วอยากโดดไปที่ทะเลสาบ  ซึ่งเราก็ต้องหาจุดยืนของตัวเองให้ได้  แล้วเราจะทำให้ลูกค้าอยากมาซื้อเราอย่างไร

เรารู้ว่าการทำออนไลน์มันดี  แต่เมื่อก่อนเราทำตัวว่าอยากจะขายไปหมดทุกอย่างซึ่งมันไม่ได้  ทำให้เราต้องมาเรียนรู้ “ธุรกิจการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า”  ว่าควรซื้อที่ไหน สต็อกอย่างไร  เพราะจริงๆ ออนไลน์ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นเพียงแค่ช่องทาง  ถ้าเราคิดว่าออนไลน์คือทุกอย่างก็ปิดประตูเจ๊งแน่นอน (หัวเราะ)

ขายถูกกว่าชาวบ้าน

การทำออนไลน์เป็นแค่หนึ่งช่องทางที่เอาไว้ลดต้นทุน  เพราะคนอื่นมีหน้าร้าน เช่าที่ใจกลางเมือง  จ้างพนักงานยืนเฝ้า มีที่จอดรถ รปภ. ซึ่งเราตัดทุดอย่างนี้ทิ้งไปหมดแล้วเข้าสู่ลูกค้าเลย  อีกอย่างคือพอซื้อเยอะมันก็เลยถูกเลยขายราคาถูกกว่าได้

ถามจริงๆ ว่ามีกี่คนที่เดินเข้าไปในห้างแล้วอยากจะซื้อทีวี มือถือ ทุกวัน  แต่การมีหน้าร้านมาพร้อมค่าใช้จ่ายอีกมหาศาล  แต่สินค้าเราจะอยู่ที่โกดังเลย  และตัดค่าใช้จ่ายส่วนนั้นออกไปมาคืนกำไรให้ลูกค้า  เราเลือกขายลูกค้าที่อาจไม่ได้ต้องการบริการหน้าร้านมาก  แต่อยากได้ของดีที่ถูกลงไป 40%  เหมือนปั๊มน้ำมันบริการตัวเองในต่างประเทศ

จุดสำคัญคือทำเรื่องที่รู้จัก

ที่สำคัญที่สุดคือทำในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจ  เพราะก่อนหน้านี้ผมทำเครื่องจักมาก่อน  มันมีไฟฟ้า เครื่องยนต์  จึงทำให้ผมเรียนรู้ได้ง่าย  แต่ถ้าให้ไปขายเครื่องสำอางก็ต้องศึกษาเยอะ ทำงานหนัก  คิเว่าเน้นทำที่เราชำนาญดีกว่า  เราไม่สามารถสต็อกทุกอย่างไว้ได้  ถ้าซื้อของมาผิดแล้วเก็บไว้นานขายไม่ได้ก็จะเก่าต้องทิ้ง  เพราะถ้าขายก็กลับมาเป็นฟีดแบคไม่ดีจนทำให้ลูกค้าเลิกซื้อเราไป

เราจึงตัดสินใจขายสินค้าแบบเฉพาะทาง  ซึ่งพอเราทำเฉพาะเหมือนเราทำอาหารเฉพาะอย่าง  เหมือนร้านเจ้ไฝที่ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราก็ได้มิชลินสตาร์เอง  แล้วพอคุณชำนาญในด้านนี้ตรงไหนไม่ดีเราก็ปรับปรุง

เราไม่ใช่ “พ่อค้าคนกลาง”

เพราะอินไซต์ลูกค้าสมัยนี้ชอบศึกษาข้อมูลเอง  และโลกตอนนี้ก็แคบลงทำให้ผู้ผลิตเจอผู้บริโภคง่ายขึ้น  สิ่งที่เราทำคือไม่ใช่การ “เป็นพ่อค้าคนกลาง”  แต่จับให้พวกเขาใกล้กันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  เหมือนเป็นแค่ท่อส่งให้  เปรียบเทียบเป็นถ้าคุณอยากดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋อง  ก็ไม่ต้องวิ่งไปซื้อถึงที่โรงงาน

หรือเรียกง่ายๆ คือเป็นบริษัทกระจายการขนส่งและบริการให้มากกว่า  เราไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง  และปัญหาของการซื้อขายทางออนไลน์ในอดีตคือต้องใช้เวลาในการขนส่งหลายวัน  แต่ตอนนี้เราลดให้เหลือ 1 วัน  และมีเป้าหมายในการทำให้เหลือครึ่งวันให้ได้ในอนาคต

จุดแตกต่างจาก Marketplace เจ้าใหญ่ๆ อีกอย่างคือคุณภาพทุกอย่างจะถูกควบคุมที่เรา  เพราะทุกอย่างอยู่ในสต็อกเราที่สั่งจากโกดังทุกชิ้น  และก่อนส่งก็ตรวจถ้าพบว่าผลิตมานานแล้วก็จะส่งของคืนกลับ  เหมือนเป็นคนกรองให้ว่าซื้อกับเราแล้วได้ของดี  ส่วนขนส่งก็ใช้ทีมตัวเองส่งในกรุงเทพกับปริมณทล (ปัจจุบันมี 10 คันแต่กำลังเพิ่มเรื่อยๆ)

หลักการบริหารทีม

เน้นความชัดเจน และเข้าใจ  เพราะต้องทำให้ทีมงานที่เข้ามาใหม่ทุกคนเข้าใจตรงกัน  ซึ่งควรสื่อสารให้เข้าใจกัน  มีแนวทางชัดเจน ถูกต้อง  ถ้าทุกคนทำตามระบบชัดเจนงานก็จะไม่พลาด  หรือถ้าพลาดก็ต้องกลับมารื้อที่ระบบกันใหม่  แล้วสร้างให้ทุกคนเข้าใจเหมือนกันว่าอาชีพที่เราทำนั้นน่าภาคภูมิใจ  เพราะเราทำสิ่งที่มีความหมาย

ทำให้ลูกค้าได้ของที่ถูกลง สะดวกสบายขึ้น สร้างตัวเลือกเพิ่ม  และผมมักพูดอยู่เสมอว่าอาชีพนี้แทบจะไม่มีคนไทยทำแล้ว  เพราะส่วนใหญ่มักเป็นต่างประเทศหมด  หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ  แต่เราเป็นบริษัทที่กำลังเริ่มต้นก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้

เจ้ายักษ์ใหญ่ไม่ใช่คู่แข่ง

เราค่อยๆ เติบโตมาแบบออแกนิกส์  หากย้อนไป 5 ปีที่เเล้วคนไม่กล้าซื้อของแพงๆ ผ่านทางออนไลน์  เพราะคนไทยยังไม่ให้ความเชื่อถือเท่ากับปัจจุบัน  เรียกได้ว่าไม่มีใครกล้าซื้อของแพงผ่านทางช่องทางออนไลน์  เนื่องจากมีประสบการณ์ไม่ดีจากการซื้อของแล้วได้ของไม่ตรงตามที่ระบุไว้อย่าง ซื้อโทรศัพท์แล้วได้ก้อนหินมาแทน อย่างเมื่อก่อนบริษัทใช้ระบบเก็บเงินปลายทางหมด  แต่ปัจจุบันลูกค้ากล้าตัดบัตรเครดิตโดยตรง

ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เริ่มทำธุรกิจนี้ก่อนก็เหมือนคนใส่ปุ๋ย  อย่างพวกบริษัทยักษ์ใหญ่แบบอาลีบาบาก็ทำธุรกิจผ่านมาระยะหนึ่ง  จนผู้ซื้อเกิดความเชื่อใจ บอกต่อ  ทำให้ต้นไม้อีคอมเมิร์ซนั้นเติบโตยิ่งใหญ่แทนที่จะค่อยๆ โต

ในทางที่จริงแล้วมองคู่แข่งหลักเป็นทางออฟไลน์มากกว่า  เพราะการที่ยักษ์ใหญ่เข้าทำให้ช่วยดึงยอดมหาศาลจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ยิ่งการที่เราเป็นรายเล็กก็ยิ่งได้ประโยชน์  เพราะการที่คนจะมาเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  ถ้ามองต่างประเทศจะพบว่าออนไลน์เป็น 52 เปอร์เซ็นต์เเล้ว

คุณธนากรพูดทิ้งท้ายว่าหากมัวแต่คิดว่ามีเจ้าใหญ่มาแล้วถอยก็เหมือนปิดทางตัวเอง  เหมือนในอาชีพอื่นถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่มีทางทำอะไรได้  ให้มองจุดยืนของเราว่าอยู่ที่ไหน  ให้ใช้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง  แล้วสู้ด้วยจุดนั้นแทน