Site icon Thumbsup

Video On Demand เทรนด์การรับชมยุคใหม่ที่อาจพลิกเจ้าตลาดสื่อหลักแบบเดิม

กระแสการใช้บริการ Video On Demand ทั้งในไทยและระดับโลกที่เปิดให้บริการมีหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, iFlix, HooQ, LINE TV เป็นต้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีหลายบริการล้มหายตายจากไปแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายบริการที่ทุนหนาและมีกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจนี้ยังไปต่อได้ แน่นอนว่ารายที่ไปต่อได้ย่อมต้องเป็นเจ้าใหญ่ระดับโลก ส่วนรายที่เป็นโลคอลล้วนๆ หลายรายก็หายไปแล้ว แม้จะยังมีเหลือรายใหญ่อย่าง Mono, True, AIS แต่ก็จะเน้นกลยุทธ์ไปที่ดูฟรีเพื่อเอาใจลูกค้า หรือจ่ายเพิ่มส่วนต่างเพื่อรับชมหนังเก่าหรือหนังดังในอดีต ซึ่งก็ต้องแล้วแต่แนวทางที่แต่ละคนดำเนินไป

แอลฟาบีตา (AlphaBeta) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และเศรษฐศาสตร์ ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาหัวข้อ Asia-On-Demand: The Growth of Video-on-demand Investment in Local Entertainment Industries ระบุว่า

 

บริการวิดีโดออนดีมานด์ (VOD) จะลงทุนในเอเชียสูงถึง 10,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2565  หรือเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าจากปีพ.ศ. 2560 ยังพบอีกว่า ผู้บริโภคชาวเอเชียที่ใช้บริการ VOD มีความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างมาก จึงส่งผลโดยตรงให้ผู้ให้บริการมุ่งพัฒนาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องเหมาะสมกับท้องถิ่นมากขึ้น

คาดบริการวิดีโอออนดีมานด์ลงทุนหมื่นล้านเหรียญภายในปี 2565

ในงบประมาณการลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยผู้ให้บริการระดับโลกเป็นมูลค่าประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจมากกว่า 3 เท่าของมูลค่าการลงทุนโดยผู้ให้บริการ VOD

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณา การใช้จ่ายทางตรง ภายในอุตสาหกรรมสำหรับกิจกรรมการดำเนินงานหลักๆ เช่น อุปกรณ์ การคมนาคมขนส่ง อาหารและการจัดเลี้ยง การตลาด และที่พัก เป็นต้น

ซึ่งจะผลักดันให้เกิด การใช้จ่ายทางอ้อม โดยซัพพลายเออร์ เช่น การซื้อเลนส์กล้องถ่ายภาพ อาหารและการจัดเลี้ยง การคมนาคมขนส่ง ค่าเชื้อเพลิง และอื่นๆ รวมถึงเกิด การใช้จ่ายที่ขึ้นอยู่กับรายได้ โดยพนักงานหรือคนงานที่มีการใช้จ่ายเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ งบประมาณการลงทุนดังกล่าวยังอาจสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นกว่า 736,000 ตำแหน่งภายในปีพ.ศ. 2565 ทั้งยังเอื้อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ดนตรี และสินค้าที่ระลึก เป็นต้น     

ขณะเดียวกัน การศึกษาดังกล่าวยังคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการที่จ่ายเงินเป็นสมาชิกในภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 5 ปี และผู้ชมในเอเชียมีความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพเป็นอย่างมาก

ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ผู้ให้บริการ VOD จึงจำเป็นต้องจัดหาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น จนผลักดันการลงทุนด้านการพัฒนาคุณภาพของคอนเทนต์ท้องถิ่นเพื่อดึงดูดสมาชิกรายใหม่และรักษาฐานจำนวนสมาชิกเดิม  

รายงานการศึกษานี้ ค้นพบข้อมูลสำคัญ 7 เรื่อง ได้แก่:

ผู้ให้บริการ VOD มีการใช้จ่ายทั่วโลกราว 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยการใช้จ่ายในเอเชียมีมูลค่าเพียงประมาณ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งงบประมาณการใช้จ่ายในเอเชียสามารถเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าได้ภายในปีพ.ศ. 2565  โดยงบประมาณดังกล่าวประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเป็นการลงทุนทางตรงโดยผู้ให้บริการ VOD ระดับโลก 

ตรงข้ามกับความเชื่อทั่วไป การศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ชมในเอเชียมีความต้องการรับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างมาก และใช้เวลารับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นเท่าๆ กับการรับชมคอนเทนต์จากต่างประเทศ ทั้งนี้คาดว่าผู้ชมที่จ่ายเงินค่าสมาชิกในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นผู้ให้บริการ VOD จึงต้องให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ท้องถิ่นคุณภาพสูงเพื่อดึงดูดสมาชิกใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม

บริการ VOD ช่วยเผยแพร่คอนเทนต์จากเอเชียไปยังกลุ่มผู้ชมที่อยู่ต่างประเทศในวงกว้างยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์เรื่อง เซเคร็ด เกมส์ (Sacred Game) จากอินเดียที่มีการรับชมออนไลน์จากมากกว่า 190 ประเทศ จึงเป็นโอกาสในการส่งออกอิทธิพลและความต้องการด้านวัฒนธรรมเอเชีย เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น 

การใช้จ่ายทางตรงภายในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการดำเนินงานหลักๆ เช่น อุปกรณ์ คมนาคมขนส่ง อาหารและการจัดเลี้ยง การตลาด ที่พัก และอื่นๆ จะผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายทางอ้อม โดยซัพพลายเออร์ เช่น ค่าเลนส์ถ่ายภาพ อาหารและการจัดเลี้ยง ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น และ การใช้จ่ายที่ขึ้นอยู่กับรายได้ โดยพนักงานหรือคนงานที่มีการใช้จ่ายเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้การใช้จ่ายดังกล่าวยังอาจก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ขึ้นถึง 736,000 ตำแหน่งภายในปี พ.ศ. 2565 และท้ายที่สุดคือ การเอื้อประโยชน์ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ดนตรี และสินค้าที่ระลึก เป็นต้น      

คุณประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่ผู้ให้บริการ VOD นำมาสู่อุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีเฉพาะการใช้จ่ายด้านคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างทักษะต่างๆ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ผู้ให้บริการ VOD ยังเป็นคนกลางในการแนะนำผู้ให้บริการระดับท้องถิ่นและผู้ให้บริการระดับสากลให้มารู้จักและร่วมมือกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความน่าสนใจในระดับนานาชาติให้แก่คอนเทนต์ท้องถิ่น เช่นเดียวกับการถ่ายทอดองค์ความรู้

การผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงเติบโตขึ้นทั่วโลก โดยผลงานหลายเรื่องได้ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกมากขึ้น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง เครซี่ ริช เอเชี่ยนส์ (Crazy Rich Asians) เป็นต้น นำมาซึ่งโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละส่วนของห่วงโซ่คุณค่า เช่น มาเลเซียและไทยมีสตูดิโอตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือระดับโลกและมีการให้สิทธิพิเศษที่ดีในการดึงดูดผู้ผลิตคอนเทนต์จากต่างชาติ ในขณะที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านเทคนิคพิเศษด้านภาพและแอนิเมชัน 

การปฏิรูปนโยบายจะสามารถสร้าง “วงจรประเสริฐ” ที่นำไปสู่การผลักดันการลงทุนด้านคอนเทนต์คุณภาพสูง ซึ่งจะเพิ่มอุปสงค์ด้านคอนเทนต์ และดึงดูดการลงทุนอื่นๆ ตามมา ทั้งนี้ตลาดเอเชียที่เติบโตขึ้นนี้กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ผลักดันนโยบายแทนที่จะมุ่งไปที่นโยบายที่ไม่ส่งเสริมผลิตภาพ เช่น การให้โควต้าคอนเทนต์ท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลเชิงลบอย่างต่อเนื่องในด้านคุณภาพและอุปสงค์ในตลาด 

รายงานยังชี้ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศท้องถิ่นนั้นๆ หากอุตสาหกรรม VOD ได้เข้าไปขยายตลาดเพิ่มเติม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่นี่