Site icon Thumbsup

สร้างแบรนด์บน Twitter อย่างไรให้คนพูดถึง

ในยุคที่การใช้งาน Twitter ไม่ใช่แค่เด็กวัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นอีกต่อไป แต่ทวิตเตอร์เข้าถึงคนทุกกลุ่มและปั่นกระแสในบางเรื่อง รวดเร็วกว่าการทำตลาดบนโซเชียลมีเดียอื่นๆ นั่นทำให้แบรนด์หรือนักการตลาดที่ต้องการขายสินค้าหรือสร้างกระแสต่างๆ บนออนไลน์ ไม่ควรมองข้ามช่องทางนี้

โดยคุณ Aimme Sitthisenee ขึ้นพูดเกี่ยวกับการทำการตลาดบน Twitter อย่างไรให้เกิดผล (#WorthTalkingAboutt) ทีมงาน thumbsup ได้สรุปข้อมูลมาให้ได้อ่านกัน

ด้วยแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ ทำให้มีการพูดคุยแบบเรียลไทม์มากขึ้น จนเกิดบทสนทนามากกว่า 1,400 ล้านข้อความ โดยใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนพูดถึงไวรัสโคโรน่าสูงถึง 2 ล้านข้อความภายในเดือนเดียว #เป๊กผลิตโชค เป็นแฮชแท็กที่มีการพูดคุยกันมากถึง 133 ล้านข้อความในปี 2019 ที่ผ่านมา สำหรับเนื้อหาที่เหล่านุช (ชื่อกลุ่มแฟนคลับของเป๊ก ผลิตโชค) คุยกันนั้น จะเป็นเรื่องราวทางสังคม ถือว่าเป็นข้อความที่สร้างสรรค์ที่สุดในการใช้งานเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างศิลปินและแฟนคลับ

ทำอย่างไรให้คนอยาก re-tweet

ก่อนที่จะทำแคมเปญใดนั้น อย่างน้อยนักการตลาดต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของเราให้ชัดเจนก่อนว่าสินค้าที่เราจะนำเสนอให้แก่ใคร และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ในทวิตเตอร์ไหม พวกเขามีพฤติกรรมและการใช้งานทวิตเตอร์อย่างไร เพราะการที่เราเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและแพลตฟอร์มที่ต้องใช้ทำงานเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะคิดรูปแบบการทำคอนเทนต์ให้สร้างสรรค์และดึงดูดใจให้พวกเขาอยากแชร์ได้มากขึ้น

คุณ Aimme บอกว่า พฤติกรรมของคนที่เห็นแคมเปญต่างๆ ในทวิตเตอร์แล้วกดรีทวิตหรือบอกต่อนั้น ต้องเป็นแคมเปญที่ Insightful สุดๆ เพราะกระตุ้นให้คนอยากบอกต่อและกระจายอย่างรวดเร็ว โดยการทำแคมเปญหลังจากที่ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะนำเสนอแก่กลุ่มเป้าหมายใด และควรจะโพสต์เนื้อหาคอนเทนต์แบบไหน ก็เริ่มโพสต์คอนเทนต์ก่อนส่งต่อให้แก่กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ช่วยบอกต่อผู้ติดตามของเขา เมื่อผู้เล่นเห็นก็จะมีการบอกต่อและกระจายเข้าสู่กลุ่มที่แมสขึ้น จากนั้นก็จะทำให้เกิดการสนทนาอย่างต่อเนื่อง

คอนเทนต์ประเภทไหนที่จะทำให้ถูกพูดถึงบ้าง จากรูปด้านล่างนี้ จะเห็นว่า 6 ประเภทของคอนเทนต์ที่คนจะพูดถึงคือ การเปิดตัวแบรนด์หรือบริษัทใหม่ สินค้าหรือบริการใหม่ที่โดดเด่นน่าสนใจ มีการปรับปรุงฟีเจอร์ใหม่ การปรับเปลี่ยนโพสิชั่นของแบรนด์ และสุดท้ายคือเรื่องของโปรโมชั่น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้คนอ่าน เพราะพวกเขาจะเลือกเสพสื่อที่สนใจและดึงดูด หากแบรนด์นั้นเป็นแบรนด์ที่พวกเขาคุ้นเคยและมีการพูดถึงของคนในสังคม

เมื่อผู้ใช้งานทวิตเตอร์ได้เห็นหรือรับทราบเกี่ยวกับคอนเทนต์ใหม่ๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขาจะทำต่อก็คือการรีทวิต (คล้ายกับแชร์บนเฟสบุค) ซึ่งภาษาที่พวกเขาใช้คุยกันอาจจะเป็นการรีวิวจากประสบการณ์จริง ดังนั้น คำพูดที่คุยนั้น ไม่ได้สุภาพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อการรีวิวจากประสบการณ์จริงจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งนักการตลาดจะต้องเปิดใจและยอมรับการปรับปรุงมากกว่าการโต้ตอบหรือแก้ตัว

นอกจากนี้ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับลูกค้า ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่สละสลวยยากต่อการเข้าใจ เพราะการคุยผ่านทวิตเตอร์เหมือนการคุยกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิด เราใช้ภาษาที่เหมาะสมและไม่หยาบคายก็เพียงพอ เพราะการทำให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์อ่านแล้วรู้สึกอยากส่งต่อ เนื้อหา หรือคอนเทนต์นั้นจึงต้องอ่านแล้วเข้าใจง่าย สื่อสารด้วยภาษาที่ให้ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แค่นี้ก็กระตุ้นให้พวกเขาอยากบอกต่อแล้ว รวมทั้งไม่ได้จำกัดการบอกต่อแค่ในทวิตเตอร์ด้วย แต่อาจจะไปแชร์ต่อบนโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของเขาก็เป็นได้

นอกจากนี้ แบรนด์ที่มีการอัพเดตทั้งคอนเทนต์ โปรโมชั่น และสื่อสารกับผู้คนบนทวิตเตอร์แบบสม่ำเสมอจะช่วยให้คนสนใจที่จะติดตามและรีทวิตเมื่อแบรนด์ที่พวกเขารัก มีการแชร์คอนเทนต์ออกมา โดยการทำคอนเทนต์ทั้งแบบ realtime content หรือแคมเปญที่เกิดขึ้นจากการทวิตของบัญชีผู้ใช้งาน (เช่น แคมเปญ #saveปีโป้สีม่วง) และทำแคมเปญต่อเนื่องกับคนแรกที่ทวิต ช่วยให้ผู้พบเห็นรักในแบรนด์ของเรา ติดตามและพร้อมที่จะสื่อสารหรือมีส่วนร่วมกับแบรนด์

การเข้าใจแพลตฟอร์มทวิตเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แค่นักการตลาดเข้าใจความเป็นทวิตเตอร์ก็จะมีความคิดสร้างสรรค์และเข้าใจว่าทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มนี้อย่างไรให้คนอยากรีทวิต รวมทั้งต้องรู้จักสร้างความแปลกใหม่ให้แก่ผู้พบเห็นทุกวัน อย่าช้าที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ เพราะการคุยกันบนทวิตเตอร์ จะช่วยสร้างแฮชแท็กใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน แบรนด์ต้องเกาะกระแสให้ทัน เพื่อการสร้าง realtime content ที่เชื่อมโยงกับแบรนด์

การทำความรู้จักแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ให้ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แค่เข้าใจความเป็นตัวตนและนำเสนอคอนเทนต์ให้ทันสมัย ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใช้งานอื่นๆ ทำให้พวกเขาอยากช่วยแชร์ต่อได้ไม่ยากแล้ว