Site icon Thumbsup

สองผลิตภัณฑ์จาก Twitter ที่เติบโตอย่างแตกต่าง Vine เริ่มรุ่ง #Music เริ่มร่วง

ภาพจาก indie-music.com
ภาพจาก indie-music.com

ปีนี้ถือเป็นปีที่มีหลายๆ ผลิตภัณฑ์จากทาง Twitter ออกมาให้คนใช้สมาร์ทโฟนได้ใช้งานกัน โดย 2 ตัวที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงก่อนและช่วงเปิดตัวก็คือ 2 Vine และ Twitter #Music ซึ่ง thumbsup เองก็เคยเสนอข่าวทั้ง Vine และ #music ไปแล้ว หลังจากการเปิดตัวไปแล้วทั้งสองแอพพลิเคชันนี้เป็นอย่างไรกันบ้างในแง่การใช้งานหนอ

หลายคนที่ไม่รู้จักว่า Vine คืออะไร อธิบายสั้นๆ ว่าเป็นแอพพลิเคชันถ่ายวิดิโอยาว 6 วินาที (อ่านเต็มๆ ได้จากการแนะนำ Vine) โดยออกตัวที่ใช้กับ iOS มาก่อนในตอนเปิดตัวเดือนมกราคม และเพิ่งจะออก Vine เวอร์ชันที่ใช้งานกับแอนดรอยด์ในเดือนมิถุนายนนี่เอง

มีกราฟแสดงสัดส่วนการตลาดของผู้ใช้ iPhone ในสหรัฐฯ จาก Onavo ที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงแรกของการเปิดตัวนั้นยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งเทียบเป็นสัดส่วนของคนใช้ iPhone ว่าจะมีคนใช้ Vine 1 คนใน iPhone 50 เครื่อง (ราวๆ 2%) แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จะเห็นได้ถึงความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นจนเกิน 10% แล้ว หรือเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าจะเจอคนใช้ Vine ในคนใช้ iPhone ทุกๆ 10 เครื่อง

ปัจจุบันยอดดาวน์โหลดมามากกว่า 5 ล้านครั้ง และมีผู้เขียนรีวิวไปกว่า 25,000 ครั้งแล้ว เรียกได้ว่าเยอะมากพอสมควรกับการเปิดตัวในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับ #music นั้นน่าจะพอเดากันออกว่าเป็นแอพพลิเคชันเกี่ยวกับเพลง ที่ดึง Twitter มาเกี่ยวข้องด้วย โดยเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน แถมก่อนเปิดตัวเริ่มให้เหล่าคนดังเซเลปในต่างประเทศให้ลองใช้งานก่อนเพื่อเป็นการสร้างกระแสอีกด้วย

แต่เอาเข้าจริงเวลาผ่านไป 2 เดือน กราฟที่แสดงขึ้นมานั้นกลับตาลปัตร เพราะสิ่งที่เห็นคือจำนวนการใช้ลดลง ซึ่งลดลงมากถึง 62% และเรียกได้เป็นวิกฤติสำหรับ Twitter เพราะประโยคที่ทาง Twitter บอกไว้เมื่อเปิดตัวคือ “change the way people find music.” แถมปัจจุบัน Kevin Thau คนที่นำ #music มาเปิดตัวได้ออกจาก Twitter ไปเรียบร้อยเพื่อไปเริ่มทำ Startup ตัวใหม่ที่ชื่อ Jelly

สำหรับผมแล้ว เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดการใช้งานลดลงน่าจะเป็นเพราะทาง Twitter ไม่เปิดให้ดาวน์โหลดทั่วโลก รวมทั้งด้วยความรู้สึกจากการใช้งานที่มองว่ายาก หากว่าเราไม่ใช่คนติดตามนักร้องดังๆ ซึ่งที่สหรัฐฯ ไม่เหมือนกับแอพพลิเคชันอื่นๆ ที่ไม่เจาะจงกลุ่มเฉพาะในการใช้งาน เรียกได้ว่า ใครๆ ก็ใช้ได้

แม้จะมองว่าระยะเวลาในการเปรียบเทียบนั้นดูแล้ว #Music จะเสียเปรียบ แต่กับเทรนด์การใช้ที่ลดลงนั้นไม่เป็นเรื่องดีแน่ๆ น่าจะได้เห็นการแก้เกมจากทาง Twitter ซึ่งถ้ามองในแง่การใช้งานที่เปิดกว้างมากกว่าเน้นเรื่องเพลง การเลือกที่จะครอบคลุมด้านบันเทิงทั้งหมด น่าจะช่วยให้ดีขึ้น(ก็เป็นได้)

ที่มา: Venturebeat