Site icon Thumbsup

จากเสียงสนับสนุน Uber 51,000 รายชื่อ สู่การยื่นหนังสือขอแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์

ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนกว่า 51,000 ชื่อ ล่าสุด Uber ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีร่วมเดินทาง (Ride-Sharing)  ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  สนับสนุนการแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับปัจจุบันให้รองรับบริการร่วมเดินทาง ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนแล้ว 

คุณเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและนโยบายของบริษัท Uber ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “Uber ขอขอบคุณทุกเสียงสนับสนุนของคนไทย ที่มีต่อบริการร่วมเดินทางด้วยดีมาโดยตลอด จนล่าสุด Uber ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า 51,000 รายชื่อ ผ่านทางเว็บไซต์ https://action.uber.org/th/ ทุกเสียงที่ร่วมลงชื่อคือกำลังใจของเราที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้มีกฎหมายรองรับบริการร่วมเดินทางในประเทศไทยอย่างเป็นทางการให้สมกับที่คนไทยรอคอย”

“Uber ได้เข้าพบท่านรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาสู่การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับบริการร่วมเดินทางให้คนไทยสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการเดินทางได้อย่างเต็มที่ ผ่านทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เปรียบเสมือนตัวแทนของประชาชนคนไทย”

นางเอมี่กล่าวอีกว่า “Uber มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทยให้ไปถึงเป้าหมายและโดดเด่นอยู่ระดับแถวหน้าของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ให้กับประชาชน สังคม ทั้งนี้ประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมดได้มีการยอมรับการให้บริการร่วมเดินทางเเล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ และเวียดนาม”  

Uber ได้เปิดให้บริการเทคโนโลยีร่วมเดินทางแก่ผู้คนในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 3 ปี 3 เดือนแล้ว และในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.2560 มีคนมากกว่า 1.3 ล้านคนเปิดแอปพลิเคชัน Uber ทั่วประเทศไทย ซึ่ง Uber มองว่าเทคโนโลยีของ Uber นั้นเข้ามาเติมเต็มระบบขนส่งสาธารณะ สร้างประสบการณ์ใหม่  และแก้ไขปัญหาความไม่สะดวกในการเดินทาง รวมถึงการสร้างความปลอดภัยของผู้โดยสารผ่านเทคโนโลยี ที่สำคัญคือมีส่วนให้โอกาสในการสร้างรายได้เสริมของประชาชน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประจำประมาณ 400,000 คนในประเทศไทย ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา

“Uber หวังว่าทางภาครัฐจะมองเห็นถึงโอกาส และความเป็นไปได้อีกมากที่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีร่วมเดินทางเพื่อคนไทยทุกคน เพื่อนักท่องเที่ยว เพื่อเศรษฐกิจ สังคมและเพื่อประเทศของเรา” นางเอมี่ กล่าว