Site icon Thumbsup

Uber ยืนยันต้องการปักหมุดในไทย ขอ 10,000 เสียงประชาชนแก้ร่าง พรบ.

คุณเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา

นอกจากเรื่องของบริการใหม่ ๆ จาก Uber ที่ทยอยอัปเดตกันออกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนเฝ้าติดตามก็คือข่าวคราวความคืบหน้าของบริการร่วมเดินทาง Ride-Sharing ว่าจะมีความเป็นไปได้ และสามารถให้บริการจริงในไทยได้มากน้อยเพียงใด

ล่าสุด Uber ประเทศไทยโดยคุณเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและนโยบายได้ออกมาเผยถึงความพยายามของ Uber ประเทศไทยในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่า มีการเข้าพบหารืออย่างเป็นทางการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพียง 1 ครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว และในปีนี้ก็ยังไม่มีการหารือกันอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ Uber ประเทศไทยได้เปิดผลสำรวจจาก AU Poll ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเกี่ยวกับการใช้บริการรถสาธารณะของคนกรุงเทพฯ พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่เคยใช้บริการร่วมเดินทาง 93.6% ต้องการให้มีบริการร่วมเดินทาง และ 79.5% ต้องการให้มีกฎหมายรองรับ

โดยผลสำรวจจาก AU Poll นี้เป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนทำงานอายุระหว่าง 20 – 55 ปี  จำนวน 1,210 คน ระหว่างวันที่ 1 – 12 กันยายนที่ผ่านมา

จากผลการสำรวจดังกล่าวที่พบว่ามีความต้องการใช้งานบริการ Ride-Sharing จึงนำไปสู่ความพยายามจาก Uber ในการรวบรวมรายชื่อจำนวน 10,000 รายชื่อเพื่อนำไปสู่การเสนอแก้ไขร่าง พรบ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยอูเบอร์มองว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มประเภทรถอีกหนึ่งประเภทที่มีการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟน และรัฐสามารถออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและดูแลผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจออกมาเป็นกฎกระทรวงภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติรถยนต์ฯ ซึ่ง Uber มองว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาและใช้ประโยชน์ให้กับประชาชน สังคมและประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้

นอกจากนี้ Uber ยังได้ยกตัวอย่างของบริการ Ride-Sharing ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ APAC ว่ามีการปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ได้มากน้อยต่างกัน เช่น ในกัมพูชา และเมียนมาร์ที่มีการเปิดรับด้วยดี และมองว่า Uber เข้ามาช่วยยกระดับบริการขนส่งสาธารณะภายในประเทศ หรือในประเทศญี่ปุ่นที่แม้บริการแท็กซี่ของญี่ปุ่นจะที่เลื่องลืออยู่แล้ว แต่ก็จะเปิดรับ Uber เพื่อร่วมให้บริการด้วยในเร็ว ๆ นี้ เพื่อรองรับปริมาณผู้เข้าชมงานมหกรรมโอลิมปิก 2020

ในส่วนนี้คุณเอมี่มองว่า แต่ละประเทศล้วนมีบริการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ซึ่งในจุดของ Uber มองว่า เทคโนโลยีอย่าง Uber สามารถอยู่ร่วมกับบริการขนส่งสาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้วของแต่ละประเทศได้ โดยเป็นการอยู่เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้งานในแต่ละเมืองว่าขาดในจุดใดมากกว่านั่นเอง

สำหรับใครที่อยากสนับสนุน Uber สามารถดาวน์โหลดเอกสารสนับสนุนได้ที่ t.uber.com/regTH