Site icon Thumbsup

สภาพัฒน์เผย ไตรมาส 3 ปี 2563 มีผู้ว่างงาน 7.4 แสนคน กระทบกำลังซื้อและหนี้ครัวเรือน

สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคม ไตรมาส 3 ปี 2563 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่มในอัตราชะลอตัว มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคม ไตรมาส 3/2563 ว่า อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาสสาม พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.95 จากไตรมาสที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรง

เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่าผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.15 สูงสุดตั้งแต่ปี 2554 รองลงมาเป็นระดับ ปวช. และ ปวส. ร้อยละ 2.79 และ 2.73 ตามลำดับ ขณะเดียวกันแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี และ 20-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นในไตรมาสนี้เช่นกันที่ร้อยละ 9.4 และ 7.9 ตามลำดับ ชี้ว่าแรงงานที่มีการศึกษาสูงและอายุน้อยเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การจ้างงานในไตรมาสสาม ปี 2563 เพิ่มขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 เป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ที่ร้อยละ 1.8 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับฐานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดียวกันปีที่แล้วลดต่ำลงมากจากผลกระทบการส่งออกที่หดตัวและมีการใช้กำลังการผลิตลดลง

ทั้งนี้ สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แก่ สาขาก่อสร้าง การขายส่งและขายปลีก การขนส่ง/เก็บสินค้า ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6, 4.6 และ 3.3 ตามลำดับ แต่สาขาการผลิตยังคงหดตัวร้อยละ 1.4 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งนอกจากคำสั่งซื้อที่ลดลงแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับภาคเกษตรกรรมแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง ร้อยละ 0.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามแม้แรงงานจะมีงานทำ แต่ไม่ได้เป็นการทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้จากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจากจาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็น 41.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ และจำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลาหรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ลดลงร้อยละ 19.7 ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ของแรงงานที่อาจจะลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน

ที่มา kaohoon, Workpointtoday