Site icon Thumbsup

แบรนด์จะรับมือกับปฏิกริยาในโลกออนไลน์อย่างไร : กรณีศึกษาคลิปฉาวในห้องลองเสื้อของ Uniqlo

เคยมีคำกล่าวว่า “ไม่มีอะไรแย่กว่าการมีชื่อเสียงแย่ๆ” อาจจะจริงที่สุดในยุคโซเชียลมีเดีย ลองถาม Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นที่ตอนนี้กลายเป็นที่จับตามอง จากกรณี Sex tape ในห้องลองเสื้อผ้าของร้านสาขาในปักกิ่ง ประเทศจีน 

คลิปวิดีโอนั้นกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว เริ่มจากที่แรกคือ Weibo มีการค้นหาวิดีโอดังกล่าวนับล้านครั้ง แล้วชื่อของ Uniqlo ก็ฮิตติดลมบนในโลกออนไลน์

ในประเทศจีน เรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเป็นที่เกิดเหตุ หลายๆ คนพูดไปถึงตัว Uniqlo เองนั่นแหละที่อยู่เบื้องหลังคลิปนี้ ทาง Uniqlo ไม่ได้ออกมาปฏิเสธหรือตอบรับ (ตามประสาแบรนด์ที่ถ่อมตัวและสุภาพ) เพียงแต่กล่าวไว้ในคำแถลงการณ์ว่า “เราอยากจะเตือนให้สาธารณชนมีจริยธรรมทางสังคม และใช้ห้องลองเสื้อผ้าของเราในวิถีทางที่เหมาะสม”

Uniqlo ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก แต่แบรนด์อื่นๆ (โดยเฉพาะในจีน) มีปฏิกริยาที่ต่างออกไป

มีรายงานว่าหลายๆ บริษัท ส่วนมากอยู่ในจีน นำเอาเรื่องนี้มาใส่ในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมแห่งหนึ่งในจีนพยายามสื่อสารผ่าน Weibo ว่า “ห้องพักของเรามีขนาดใหญ่พอๆ กับห้องลองเสื้อผ้า 18 ห้องรวมกัน” และแบรนด์ ARIS ซึ่งเป็นผู้ผลิตฟูกที่นอน ก็ออกมาเปรียบเทียบความสบายของโปรดักต์ตัวเองโดยเปรียบเทียบกับห้องลองเสื้อผ้าของ Uniqlo

แบรนด์เหล่านี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจซ้ำเติมความซวยของ Uniqlo แต่พวกเขาก็เอาตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างตั้งใจ จะเรียกว่าโหนกระแสก็ได้

ยังไม่รวมคลิปประเภท User-generated content ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียนเหตุการณ์นี้ ส่วนมากจะพบอยู่ตาม Weibo มีการแชร์ภาพป้ายประกาศของห้าง Harrods ซึ่งมีใจความว่าจำกัดเวลาการใช้ห้องลองเสื้อของชาวจีนภายใน 10 นาที (เป็นภาพปลอมที่ถูกทำขึ้น)

รวมไปถึงคลิปวิดีโอที่เป็นการรีวิวขนาดและความสว่างของห้องลองเสื้อผ้าของ H&M และ Zara ก็ถูกปล่อยออกมาโหนกระแสนี้เช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์เกี่ยวกับ Uniqlo นี้คือ มันไม่ทำลายชื่อเสียงของแบรนด์ และในขณะเดียวกัน แบรนด์ Uniqlo ก็ไม่ได้อะไรจากเรื่องนี้เช่นกัน

ถึงแม้ว่าชื่อของบริษัทถูกค้นหามากขึ้น และร้านสาขาในกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นที่ที่คลิปถูกถ่าย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เรื่องนี้จะหายเงียบไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือปฏิกริยาของผู้บริโภคที่นำเอาเรื่องนี้มาเล่นจนมีผลกระทบกับแบรนด์อื่นๆ ต่างหาก

บางสื่อรายงานว่า การเผยแพร่คอนเทนต์ล้อเลียนที่ปลอมขึ้นมา อย่างเช่น กรณีของป้าย Harrods และคลิปรีวิวห้องลองเสื้อผ้าของ H&M และ Zara คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแบรนด์มีความสามารถในการควบคุมปฏิกริยาของผู้บริโภคในโลกออนไลน์อย่างจำกัด ถึงแม้ว่าแบรนด์นั้นๆ จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์นี้เลยก็ตาม

แม้แต่แบรนด์ที่เอาตัวเองเข้าไปล้อเลียนเรื่องนี้ก็ไม่ได้อะไรเช่นกัน มันไม่ได้ช่วยให้ขายของได้มากขึ้น เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลแบบนี้มันหายไปอย่างรวดเร็วจนแบรนด์อาจจะไม่ได้และไม่เสียอะไรเลย

ที่มา : Econsultancy