Site icon Thumbsup

อัปเดตเรื่องน่ารู้ของอินฟลูเอนเซอร์ไทย

การเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น จำนวนของเพจหรืออินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ รูปแบบของคอนเทนต์ที่ดึงดูดให้คนอยากติดตาม รวมทั้งประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ก็เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ

thumbsup ได้รับเกียรติสัมภาษณ์คุณสุวิตา จรัญวงศ์ CEO & Co-Founder ของ Tellscore มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์ไทยที่น่าสนใจมาฝากกัน

จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ผลกระทบจาก Covid-19 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว ภายใต้วิกฤติเช่นนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงพลังบวกที่ชัดเจนของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่มีบทบาทมากกว่าการรีวิวสินค้า

แต่อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ ยังมีบทบาทในการช่วยสังคมคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและถูกต้อง สร้างสรรค์ คอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงประชาชนได้ถูกกลุ่มและทันเวลา

นอกเหนือจากการเป็นกระบอกเสียงคุณภาพให้กับสังคมแล้ว ในปีนี้ยังมีอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพหน้าใหม่เกิดขึ้นในวงการมากมาย

ประเภทใหม่ๆ ของอินฟลูเอนเซอร์

ด้วยเหตุผลจากการที่เราต้องอยู่บ้านกันเป็นเวลานานจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก จากเดิมที่อินฟลูเอนเซอร์จะเน้นไปในเชิงไลฟ์สไตล์เรื่องของอาหาร ความสวยความงาม เทคโนโลยี เป็นต้น

แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนของอินฟลูเอนเซอร์ประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น สายสูงวัย สายสิ่งแวดล้อม สายแม่บ้าน สายจัดโต๊ะคอม เป็นต้น

การเกิดขึ้นของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ บอกให้เราทราบว่าความชื่นชอบในเรื่องบางอย่างมีความตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) มากขึ้น และผู้อ่านคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ยุคใหม่ก็เปิดกว้างกับเรื่องราวที่น่าสนใจมากขึ้น

ราคาเฉลี่ยของอินฟลูเอนเซอร์

ตามมาด้วยเรื่องของราคาค่าใช้จ่ายของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ในมุมของผู้เขียนเองมองว่า ราคาเฉลี่ยของอินฟลูเอนเซอร์นี้ ราคาค่อนข้างจะถูกกว่ามาตรฐานราคาของอินฟลูเอนเซอร์สมัยก่อน และจำนวนของผู้ติดตามกับราคาจะสวนทางกันคือ ช่วงที่โควิดระบาดมีหลายแบรนด์นิยมใช้กลยุทธ์แจกของฟรีเพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์ยอมโพสต์งาน

จากนั้นก็ทำให้เกิดกระแสแจกของแทนการจ่ายเงินค่าจ้าง แต่บรีฟมายาวเป็นหางว่าว ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน ต่อมาหลายแบรนด์ก็เริ่มมีการจ่ายค่าจ้างพร้อมกับให้ของฟรี โดยเรตค่าจ้างโพสต์ก็จะไม่สูงมากนัก แต่หลายอินฟลูเอนเซอร์ก็จะยอมรับเรตนี้ เหมือนเป็นภาวะน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า คือยอมรับค่าจ้างในเรทน้อยๆ ก่อนหวังว่าในอนาคตแบรนด์ต่างๆ จะเห็นค่าและยอมจ่ายในเรตท่ีแพงขึ้นเมื่อทุกอย่างกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ

เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์อย่างไรดี

สำหรับยุคที่นักการตลาดมักบอกว่าหนึ่งในกลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ นอกจากกลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ ก็คือการใช้อินฟลูเอนเซอร์มาผสมผสานกับแนวทางการตลาดแบบเดิม

ทางคุณสุวิตา แนะนำว่า นอกจากกลยุทธ์การสร้างแบรนด์หรือการตลาดแบบเดิม คือการทำชิ้นงานโฆษณาและโปรโมทในช่องทางต่างๆ แล้ว การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ตัวแม่เพื่อสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้แบรนด์เป็นที่จดจำแล้ว การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์รายย่อยหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ผู้ติดตามไม่เยอะ แต่สามารถรีวิวและแนะนำข้อมูลเชิงลึก หรือที่เรียกว่า “ขายของ” ได้มากกว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อได้ดีกว่า

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์

ส่วนข้อสงสัยที่แบรนด์อยากรู้คือ เมื่อจ้างอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ควรบูสต์โพสต์นั้นเท่าไหร่ ถึงจะทำให้ยอดเข้าเป้าและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ก็คือควรบูสต์โพสต์อย่างน้อย 30-40% ของงบที่จ้างอินฟลูเอนเซอร์ไม่ใช่แค่ให้โพสต์แล้วจบไป

ส่วนข้อสงสัยที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์สงสัย คือ คอนเทนต์ของพวกเขาควรทำซับไตเติ้ลเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้ชมใหม่ๆ หรือไม่ ทาง tellscore ก็แนะนำว่าหากอยากเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกก็น่าจะลองดูค่ะ

Thailand Influencer Awards 2021

ทางเทลสกอร์ กำลังจะมีการจัดงาน Thailand Influencer Awards 2021 ซึ่งเป็นงานประกาศรางวัลสำหรับผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ทำผลงานยอดเยี่ยมในช่องทางดิจิทัล โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยวัตถุประสงค์ 3 ประการ

  1. เฟ้นหาคนคุณภาพ (Recognize Talents) ที่สามารถทำหน้าที่ส่งแรงกระเพื่อมทางความคิดได้ดี มีพลัง วัดผลได้ และเป็นที่ยอมรับในสังคม
  2. ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการสร้างคอนเทนต์ที่ดี (Content Standards) มีความคิดสร้างสรรค์ และมีสำนึกที่ดีต่อผู้ติดตาม สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวอย่างให้แก่วงการสื่อสารได้
  3. สร้างสังคมอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Community Building) ให้เป็นเครือข่ายสังคมที่รวมคนคุณภาพ และเป็นศูนย์กลางการแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

เกณฑ์การตัดสินผลรางวัลทั้ง 18 สาขา 54 ผู้เข้าชิง ที่เปิดโอกาสให้กับอินฟลูเอนเซอร์เบอร์เล็กกว่า ได้เข้ามายืนเทียบเคียงเป็น Candidate ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่กว่า ในสาขารางวัลเดียวกัน โดยคะแนน 30% มาจากคะแนนโหวตทั่วประเทศ

และอีก 70% มาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คร่ำหวอดในวงการดิจิทัล วงการครีเอเตอร์ ตัวแทนจากดิจิทัลแพลตฟอร์มชั้นนำ และตัวแทนจากหน่วยงานระดับแนวหน้าของไทย

โดยคณะกรรมการทุกท่าน จะลงคะแนนตามมาตรฐานเกณฑ์การวัดผล 5 ด้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการวัดผลในเชิงตัวเลขด้าน Followers, Reach, และ Engagement แล้ว ยังมีการประเมินเชิงคุณภาพด้านอื่นๆ ดังระบุอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับอินฟลูเอนเซอร์ทุกระดับตั้งแต่ Micro-Influencer ไปจนถึง Macro-Influencer โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity & Content Format) – 25%
  2. ลำดับเรื่อง (Storytelling) – 20%
  3. ผลลัพธ์ เช่น สร้างการรับรู้ การมีปฏิสัมพันธ์ (Performance e.g. Reach, Engagement) – 20%
  4. ตัวตนและบุคลิกภาพ ที่แสดงถึงศักยภาพในการเติบโต (Personal Branding that Displays Growth) – 20%
  5. สำนึกที่ดีต่อผู้ฟัง สังคม และสิ่งแวดล้อม (Social Conscience) – 15%

รักใครชอบใครก็เข้าไปเชียร์กันได้ที่ https://www.facebook.com/Tellscore ในวันที่ 21 ตุลาคม 2564 นี้ เวลา 19.00 น.