Site icon Thumbsup

ดอลลาร์สหรัฐกำลังอ่อนค่า หรือเงินสกุลหลักของโลกกำลังสั่นคลอน?

ขณะที่เศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้านเงินดอลลาร์สหรัฐก็กำลังอ่อนค่า จนนักวิเคราะห์หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าอาจไม่ใช่เงินสกุลหลักของโลกอีกต่อไป

ทำไมนักวิเคราะห์จึงคิดแบบนั้น จุดเริ่มต้นจริงๆ แล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) และล่าสุดในเดือนมีนาคมปี 2020 ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ออกมาตรการทางการเงินครั้งใหญ่ โดยใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่จำกัดวงเงิน

กล่าวคือธนาคารกลางสหรัฐสามารถพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบได้เองทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศค้ำประกัน  เพื่อเสริมสภาพคล่อง ช่วยเหลือภาคธุรกิจ และจำกัดผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยไปยิ่งกว่านี้

แล้วการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบส่งผลกระทบอะไรบ้าง? แน่นอนว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ลดลง ภาคธุรกิจได้รับเงินกู้ฉุกเฉิน จำนวนคนตกงานน้อยลง และประชาชนยังมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอยช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบ

แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อเงินถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบจำนวนมาก โดยปริมาณเงินที่มีอยู่จาก 15.5 เพิ่มเป็น 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตามหลักอุปสงค์อุปทานแล้วเมื่อปริมาณเงินเพิ่มขึ้นค่าเงินจะอ่อนค่าลงทันที ในเดือนกรกฎาคมดอลลาร์อ่อนค่าลงถึง 5% รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี

นอกจากนี้เมื่อดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐที่ยังคงระบาดหนักอยู่ ธนาคารกลางสหรัฐเองก็พร้อมที่จะอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเพิ่มหากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเสียหายครั้งใหญ่

ดอลลาร์สหรัฐจะสูญเสียฐานะเงินสกุลหลักของโลกหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมธนาคารกลางสหรัฐ ไม่ใช่ธนาคารกลางแห่งเดียวที่อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเองก็มีมาตรการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ต้องการสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อเงินหลายสกุลอ่อนค่าลงพร้อมๆ กันจึงไม่ทำให้สถานะของสกุลเงินไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

นักลงทุนจึงหันไปถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้นส่งผลให้ราคาทองคำในไทยทะลุ 30,000 บาทในเดือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นการอัดฉีดเงินอาจไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐเสื่อมค่า

นอกจากนี้เมื่อดูเงินทุนสำรองของธนาคารกลางแต่ละประเทศพบว่ามีสัดส่วนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ 60% ยูโร 20.54% เยน 5.7% ปอนด์สเตอร์ลิง 4.62% และหยวน 2% ที่สำคัญทุกวันนี้กว่า 80% ของธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราของโลกยังทำผ่านสกุลดอลลาร์ และแนวโน้มตรงนี้ไม่ได้ลดลง

ดังนั้น แม้ว่าสหรัฐจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากที่สุด มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบมากที่สุด ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่สหรัฐก็ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ด้านทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก