Site icon Thumbsup

#โอตะvip พิษร้ายทำลายแบรนด์ BNK48?


4 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา คำว่า “#โอตะvip” กลายเป็นเทรนด์ Twitter อันดับ 1 ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ให้คุณกับแบรนด์ BNK48 แต่เป็นโทษชนิดที่อาจจะทำลายทุกสิ่งที่ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ BNK48 ทุกคนอุตส่าห์สั่งสมมา

จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท BNK48 ออฟฟิศ จำกัด โพสต์ Instagram ชี้แจงถึงกรณีที่มีโอตะรายหนึ่งสวมหน้ากากป้องกันแก๊สไปร่วมงานจับมือสาว BNK48 เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากเพราะแฟนคลับทั่วไปถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากงานจับมือ Meeting นั้นมีกฏมากมายซึ่งแม้แต่ผู้สวมแว่นตา นาฬิกา ยังต้องถอดก่อนเพื่อร่วมงาน

ไม่ว่านักสืบออนไลน์จะพยายามขุดคุ้ยถึงความสัมพันธ์ของ “โอตะvip” รายนี้ว่าเป็นเพื่อนของภรรยาประธาน BNK48 หรือการประท้วงว่า “โอตะvip” มีนิสัยไม่ชอบมาพากลเพราะการเตรียมการเรื่องหน้ากากที่เน้นถึงความเท่ห์ และความสงสัยว่าโอตะพิการจริงหรือหลอก รวมถึงการตั้งข้อสังเกตว่าโอตะรายนี้บรรยายถึงการจับมือสาว BNK48 อย่างเข้าข้างตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าไม่ได้รับความเท่าเทียม กฏเหล็กทั้งหลายล้วนไม่จำเป็นสำหรับ VIP

สิ่งที่จิรัฐทำได้มีเพียงการขอโทษและอธิบาย โดยย้ำในโพสต์ว่าเหตุการณ์ “โอตะ VIP” เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ต้องการมอบกำลังใจให้กับผู้ด้อยโอกาส แต่กลับนำมาซี่งความผิดหวังของแฟนคลับ

“ผมในฐานะของ ผู้บริหารสูงสุด ขององค์กรนี้ ขอ ยอมรับต่อความผิดพลาดนี้และจะพยายามทำให้ไม่เกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นอีก…. และแน่นอนที่สุดว่าผมจะพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ BNK48 เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการแก้ไขปัญหาการจัดการทั้งเรื่องสินค้า กิจกรรมต่างๆ รวมถึงการพัฒนาคอนเทนท์ในรูปแบบต่างๆที่จะพาน้องๆ BNK48 ไปมอบความสุขให้กับผู้คนในภาพใหม่ๆหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป……ขอบคุณครับ”

จิรัฐไม่ลืมที่จะย้ำว่าสำหรับเขา BNK48 เป็นมากกว่าธุรกิจ เพราะในช่วงเวลาเพียงแค่ปีกว่า ทุกฝ่ายได้เห็นได้ฟังเรื่องราวกำลังใจที่แฟนหลายคนได้รับจาก BNK48 ทั้งจากคนที่เป็นโรคซึมเศร้า คนที่ไม่สมบูรณ์ 100% และคนที่กำลังตั้งใจและพยายามทำในเรื่องต่างๆอยู่ ซึ่งมวลกำลังใจเหล่านี้เองที่ทำให้จิรัฐพยายามจะสรรหาโครงการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆเท่าที่จะทำได้

แถลงการณ์ชุดแรกของจิรัฐไม่ตอบคำถามที่ข้องใจแฟนคลับ ทั้งเรื่องการใช้สิทธิ์แขก VIP ที่ไม่ต้องต่อคิวยาวทางเลนพิเศษซึ่งกันไว้เฉพาะผู้พิการ และผู้สูงอายุ รวมถึงการได้จับมือกับสาว BNK48 จำนวน 10 คนโดยไม่ต้องซื้อบัตร นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ กระทั่งมีการเปิดเผยจาก “Job-san” ทำให้แฟนคลับเข้าใจว่าโอตะรายนั้นเป็นอัมพาตครึ่งซีกจากโรคเส้นเลือดในสมองแตก มีใบรับรองแพทย์ เรื่องการใช้คำพูดไม่ดีในโซเชียลส่วนตัวเป็นเพราะความผิดปกติจากการป่วย และทีมงานจะไม่มีการให้อภิสิทธิ์กับใคร เรื่องบัตรเลือกตั้งและบัตรอื่นๆในอนาคตอีกแล้ว

แม้ Job-san ยอมรับความผิดเรื่องหน้ากาก แต่แฟนคลับบอกว่าแถลงการณ์ทั้งหมดนี้ฟังไม่ขึ้น โดยแถลงการณ์ไม่พูดถึงกรณีโอตะรายนี้อ้างถึง “คุณโรส”, ยังมีรูปถ่ายที่ทีมงาน BNK48 บอกว่าเป็นรูปบรรยากาศ ซึ่งแฟนคลับไม่เห็นด้วยเพราะ “บรรยากาศอะไรถ่ายแต่คนเดิมๆ แถมได้มองกล้อง เอารูปไปลงไอจีอีก ทำยังกะเราเป็นคนโง่ ยอมรับตรงๆ ขอโทษ รับปากจะแก้ไข ยังรู้สึกดีกว่าอีก”

บางความเห็นยังระบุว่า “แถลงแบบเข้าข้างกัน แปลว่าไม่ต้องแคร์พวกผมก็ได้นิ แบบนี้มีแค่ vip ก็พอมั้ง”

สิ่งที่เราควรศึกษาจากดราม่า #โอตะVIP นี้คือความคาดหวังของลูกค้า ไม่ว่าดราม่านี้จะเกิดขึ้นจากความอิจฉาของแฟนคลับ หรือเกิดขึ้นจาก “ความผิดพลาดโดยสุจริต” ของทีมงาน แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงอานุภาพของความผิดหวัง ซึ่งเมื่อคนหลายคนผิดหวังพร้อมกัน ความรู้สึกแง่ลบจึงถูกส่งกระจายไปแบบไม่มียั้ง

สถิติล่าสุดคือ #โอตะvip หล่นลงมาอยู่อันดับ 6 ของตารางเทรนด์แรง Twitter ท่ามกลางบางความเห็นที่ระบุบน Pantip ว่าจะไม่ติดตาม อีกแล้ว