Site icon Thumbsup

ศัพท์น่ารู้: ดราม่าคืออะไร ทำไมต้องซับซ้อนยิ่งขึ้น?

กลับมาอีกครั้งสำหรับคอลัมน์ “ศัพท์น่ารู้” ในส่วนของ Beginner Series ที่เราเน้นเรื่องศัพท์แสงเทคนิคในแวดวงดิจิตอล วันนี้ขอเสนอคำว่า “ดราม่า” เราไม่ได้ตั้งใจจะเขียนให้เกิด “ดราม่า” หรือมีเจตนายั่วยุแต่อย่างใด หากเราต้องการที่จะรวบรวม เรียบเรียง และอธิบายถึงศัพท์ที่คนบนโลกดิจิตอลใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับใช้ในการอ้างอิงเท่านั้น เพราะทุกวันนี้การพยายามทำความเข้าใจ “วัฒนธรรมเฉพาะ” ของโลกดิจิตอล เป็นสิ่งจำเป็นของคนทำงานด้านนี้เช่นกัน

สำหรับความหมายโดยทั่วไปแล้ว เมื่อค้นหาใน Google ทางอาสาสมัครของวิกิพีเดียจะระบุไว้ว่า “ดราม่า” หมายถึง นาฏกรรม, ละคร แต่ในความหมายบนโลกอินเทอร์เน็ต “ดราม่า” เป็นคำสแลง หมายถึง เรื่องราวข่าวลือ เรื่องโกหก เรื่องที่กล่าวเกินจริง หรือเรื่องราวระหว่างบุคคลที่มีการแสดงที่ท่าเกินจริง สำหรับประเทศไทย คำคำๆ นี้กลายเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่คนชอบอ่าน โดยเว็บไซต์ที่ทำให้คำๆ นี้ติดกระแสมากขึ้น และนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องก็คือ drama-addict.com ซึ่งในเว็บไซต์แห่งนี้ก็ได้ระบุถึงความหมายในเชิงสังคมไว้ว่า ?DRAMA เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่าง อคติ หรือจริงจังมากเกินไป แล้วก่อให้เกิดความขัดแย้ง รำคาญใจ กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด? ตัวอย่างของดราม่าทั่วๆ ไป เช่น “Like ช่วยโลก” และ ดราม่า starbucks?(ปล. เราพยายามเลือกดราม่าที่ไม่ใช่ความขัดแย้งระดับชาติ) โดยเรื่องนี้ สื่อมวลชนอย่าง Voice TV ก็เคยสัมภาษณ์ “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” เว็บมาสเตอร์ของ drama-addict ถึงที่มาที่ไปของเว็บไซต์

ในต่างประเทศพบว่าในบางประเทศก็เรียกคำๆ นี้ว่า “ดราม่า” เช่นกัน แต่ในบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นกระทู้อยู่ตามเว็บบอร์ดดังๆ เช่น Pantip.com, dek-d.com , Mthai.com , Pramool.com ฯลฯ โดยเฉพาะเว็บบอร์ดที่มีคนประเภทที่เรียกกันว่า “เกรียน”* อยู่กันเยอะ ที่นั่นก็จะมี “ดราม่า” อยู่มากมาย

คำว่า “ดราม่า” หากมองให้ลึกๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำที่พูดกันสนุกปากบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่มันสะท้อนความคิดเห็นทางสังคมเช่นกัน และที่ผ่านมาก็มีนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดให้มีการเสวนากันอย่างเป็นทางการมากขึ้นในประเด็น “ดราม่า กับความขัดแย้งบนโลกออนไลน์” งานนี้ก็เชิญ “จ่าพิชิต” มาเช่นเดียวกัน ซึ่งมีคนดูนับหมื่นคน พยายามอย่ามองในแง่ความขัดแย้งนะครับ ดูกันในแง่ที่ว่าทุกวันนี้คนไทยเรามองคำว่า “ดราม่า” อย่างไร และมันสะท้อนอะไรกับสังคมของเรากันนะครับ

ท้ายสุด แล้วไง? การได้รู้ความหมายของดราม่าแล้วมันช่วยอะไร? บอกได้ว่า “ดราม่า” มันไม่ได้ช่วยอะไรเรา เพียงแต่มันอ่านสนุก และอย่างน้อยก็สะท้อนความเคลื่อนไหวทางสังคมในเชิงเสียดสีประชดประชัน แต่ท้ายสุดเราทุกคนในฐานะคนอ่านก็จะต้องคิดตามครับว่า เราควรจะทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นๆ อย่างไร เชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งที่เขารวบรวมเรียบเรียงออกมา และควรจะบอกต่อเรื่องนี้หรือไม่ เพราะทุกครั้งที่เรา “แชร์” ดราม่าออกไปทาง Social Network ก็จะมีคนบอกต่อดราม่านี้ออกไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ