Site icon Thumbsup

กรณีศึกษา ใช้ “VR” สร้างแบรนด์และทำลายแบรนด์

หนึ่งในทิศทางของการตลาดดิจิทัล ต้องบอกว่าเทคโนโลยี Virtual Reality – Augmented Reality ถือเป็นอีกหนึ่งน้องใหม่มาแรง โดยเฉพาะ Virtual Reality กับความสามารถในการสร้างสภาพแวดล้อมเทียมด้วยระบบเสียง และภาพกราฟิกระดับสูง ทำให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในประสบการณ์ดังกล่าวเกิดความรู้สึก – ตอบสนองต่อ VR โดยไม่รู้ตัว

แม้ว่าการใช้ VR ในเชิงการตลาดจะยังไม่ก้าวสู่ระดับเมนสตรีม แต่ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแบรนด์บางแบรนด์เริ่มทดลองเทคโนโลยีนี้เพื่อใช้ในการดึงดูดผู้บริโภคแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่สื่อของอังกฤษอย่าง The Guardian ตัดสินใจแจก Google Cardboard จำนวน 97,000 ชิ้น ให้กับผู้อ่านเพื่อให้พวกเขาได้เข้าชมคอนเทนต์ข่าวแบบ VR บนแอปพลิเคชันชื่อ The Guardian VR ของบริษัท โดยภายในแอปพลิเคชันมีคอนเทนต์มากมายหลายชนิดให้เลือก ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการรับชมแสงเหนือ, เรื่องของเด็กออทิสติก ฯลฯ รวมถึงตั้งทีมงานด้าน VR ขึ้นมาผลิตคอนเทนต์อย่างจริงจังด้วย

หรือย้อนหลังไปในปี 2016 หนังสือพิมพ์ NewYork Times ก็เคยใช้ VR ดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้อย่างเห็นผล โดย NewYork Times ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากสื่ออื่น ๆ แต่แทนที่จะปิดตัวลง เพราะไม่สามารถดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาอ่านหนังสือพิมพ์ได้ แต่ NewYork Times เลือกที่จะแจก Google Cardboard  หลายแสนชิ้นให้กับผู้อ่านที่รับหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ โดยคนเหล่านี้จะสามารถชมวิดีโอ VR ความยาว 11 นาทีเรื่อง The Displaced ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กทั่วโลกที่ไม่มีที่อยู่เพราะสงครามและความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์ของการอยู่ในค่ายผู้อพยพ ซึ่งมีเด็ก ๆ ที่พลัดหลงมากมาย และหลายคนอยู่ในความหวาดกลัว

ผลก็คือ แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และสามารถดึงดูดผู้อ่านกลุ่มใหม่ ๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่นให้มอง NewYork Timesได้อีกครั้ง The Displaced ยังได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง และได้รับรางวัล The Entertainment Grand Prix จาก Cannes Lions Festival 2016 ด้วย

ความสำเร็จของ NewYork Times และการเริ่มต้นของ The Guardian อาจสวนทางกับ Facebook ที่ซีอีโออย่าง Mark Zuckerberg เลือกใช้เปอร์โตริโกในการนำเสนอเทคโนโลยี VR ของตนเองอย่าง Facebook Spaces โดยสิ่งที่เขาถูกตำหนินี้มาจากการที่ตัวอวาตาร์ของ Mark นั้นพูดไปยิ้มไปตลอดเวลา แถมบางทีก็หัวเราะด้วย ขณะที่บ้านของชาวเปอร์โตริโกที่เป็นฉากหลังนั้นเต็มไปด้วยความเดือดร้อน ยากลำบาก ขาดทั้งไฟฟ้าและน้ำดื่มสะอาดมาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว

อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่ผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาชม Live สดของซีอีโอ Facebook สนใจไปที่การนำเสนอของ Mark Zuckerberg มากเกินไป จนอาจไม่ทันได้ฟังว่า เขาได้ประกาศความร่วมมือกับกาชาดในการให้ความช่วยเหลือเปอร์โตริโก้ไว้ในคลิปแล้วเช่นกัน (หลายคนเปรียบเทียบเขากับความช่วยเหลือของ Elon Musk ซีอีโอ Tesla ด้วย) ซึ่งในเวลาต่อมา Mark Zuckerberg ก็ได้เข้ามาขอโทษและแจ้งอีกครั้งถึงความร่วมมือของ Facebook กับกาชาดในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว ก็ถือว่าจบลงด้วยดี

จากกรณีดังที่กล่าวมานี้อาจกล่าวได้ว่า VR ไม่ต่างกับดาบสองคมดี ๆ นี่เอง ดังนั้น สิ่งที่ธุรกิจต้องระมัดระวังก็คือ VR เป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการนำเสนอคอนเทนต์ที่เจาะลึกถึงรายละเอียด รวมถึงทำให้ผู้ที่ชมเกิดความรู้สึกร่วมกับสถานการณ์เบื้องหน้า แต่บางครั้ง หากไม่ระวังมากพอ เราอาจกำลังหันคมดาบเข้าหาตัวเองได้โดยไม่ทันรู้ตัวเช่นกัน