Site icon Thumbsup

Washington Post โชว์เทคโนโลยี “Zeus” โหลดโฆษณาตามพฤติกรรมผู้อ่านข่าว

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งการโหลดเพจไม่เกิน 3 วินาทีไปแล้วสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนมาก หรือก็คือ หากเปิดเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งแล้วใช้เวลาโหลดเกิน 3 วินาที ก็มีโอกาสที่นักท่องเน็ตจะปิดเพจนั้น ๆ แล้วไปเปิดเว็บไซต์อื่นแทน

เว็บไซต์ข่าวก็หนีไม่พ้นการแข่งขันดังกล่าวเช่นกัน แต่ปัญหาของเว็บไซต์ข่าวคือ นอกจากคอนเทนต์ข่าวแล้ว หลาย ๆ เว็บไซต์ยังต้องแสดงโฆษณาด้วย ซึ่งในจุดนี้ มีเสียงบ่นจากเว็บไซต์ข่าวออกมาเช่นกันว่า โฆษณาบางตัวก็หนักเกินไปจนเว็บไม่สามารถโหลดได้ทันภายใน 3 วินาทีจนทำให้ต้องเสียผู้อ่านไปจำนวนไม่น้อย

ทั้งนี้ หากเป็น Facebook หรือ Google นั้นคงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำเสนอวิธีการแก้ไขเพราะทั้งสองบริษัทมีเทคโนโลยีรองรับอยู่แล้ว แต่หากเป็นฝั่งของเว็บไซต์ข่าวนั้น บางทีอาจเป็นเรื่องลำบากใจ

ในจุดนี้ Washington Post สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ทางเว็บได้มีนำเทคโนโลยีชื่อ Zeus เข้ามาช่วยให้หน้าเว็บโหลดเร็วขึ้น และพบว่าสามารถเพิ่มผู้อ่านได้กว่า 30% เลยทีเดียว

โดย Zeus เป็นผลงานการพัฒนาของ RED Group กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการโฆษณาที่มองเห็นปัญหาของวงการโฆษณาในยุคนี้ว่าต้องเจอศึกหลายด้าน ทั้งจากผู้บริโภคที่ต้องการให้โหลดเพจเร็วขึ้น ในขณะเดียวกับสื่อโฆษณาก็ต้องเจอกับการใช้งานโปรแกรม ad-blocking ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งความต้องการเหล่านี้มีผลในการประมวลผลทำให้การโหลดหน้าเพจนั้น ๆ ช้าลง ซึ่งเมื่อโหลดช้าลง คนก็หนีไปอ่านเว็บอื่นในที่สุด

การทำงานของ Zeus นั้นไม่เพียงแต่สามารถระบุตัวโฆษณาได้ว่าโฆษณาชิ้นไหนที่หนักเกินไป มันยังสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้งานได้ด้วย โดยหากพบว่าผู้อ่านข่าวมีการเลื่อนหน้าจออย่างรวดเร็ว มันก็จะไม่สั่งให้โหลดโฆษณา เพื่อจะได้ไม่ต้องเพิ่มภาระในการโหลดหน้าเว็บจนรบกวนผู้อ่าน และช่วยเพิ่มประสบการณ์เชิงบวกในการเข้าเว็บมาอ่านข่าวได้ด้วย

นอกจากนั้น Zeus ยังสามารถแปลงโฆษณาบางตัวในเวลาไม่ถึงหนึ่งวินาที ซึ่งทดสอบแล้วพบว่าช่วยเพิ่มความสามารถในการรับชมได้ถึง 100% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของวงการ และโฆษณาที่ได้ความช่วยเหลือจาก Zeus นั้นยังมีอัตราการถูกคลิกเพิ่มขึ้น 32% ต่อโพสต์ด้วย

โดย Washington Post เตรียมนำเทคโนโลยี Zeus ไปเสนอกับสำนักข่าวอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากมองว่าน่าจะเผชิญปัญหาไม่ต่างกัน

ที่มา: Adweek