Site icon Thumbsup

แตกโครงสร้าง Business Model ของ WayGo ด้วย Business Model Canvas

WayGo1

ก่อนหน้านี้เรามีบทสัมภาษณ์ของผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่าง WayGo  กันไปแล้ว สำหรับครั้งนี้เราจะมาดูในรายละเอียดของโครงสร้าง Business Model ของ WayGo กันว่าเป็นอย่างไรบ้างสำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า WayGo คืออะไร ลองอ่านสรุปคร่าวๆ กันที่นี่ก่อน

เชื่อว่าปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางไปเที่ยวยังประเทศที่ใช้ภาษาจีนเป็นหลักไม่ใช่น้อย และต้องเจอปัญหาเพราะไม่เข้าใจป้ายหรือเมนูอาหารต่างๆ ที่เป็นภาษาจีน จะใช้คู่มือแปลภาษาที่ไหนก็ไม่สะดวกแน่ๆ เพราะจะให้ป้อนตัวอักษรจีนก็ทำไม่เป็นเสียด้วย จึงเป็นที่มาของแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า WayGo นั่นเอง WayGo เป็น Startup จากประเทศไต้หวันที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้โดยตรง เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นลงบนเครื่องสมาร์ทโฟน แล้วเอากล้องไปส่องที่ตัวอักษร ตัวแอพฯ ก็จะทำการแปลภาษากลับมาให้เป็นภาษาอังกฤษโดยอัตโนมัติ ไอเดียนี้เก๋ไม่เลว! ล่าสุดทีมงานของ Waygo ก็เข้าไปชนะเลิศการประกวดแข่งขันแผนธุรกิจหรือ Startup Pitching งาน Echelon 2013 ที่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

แตกโครงสร้างด้วย Business Model Canvas 

ถึงเวลาหยิบเอา Business Model Canvas มาช่วยแตกโครงสร้างของโมเดลธุรกิจกัน โดยจะหยิบยกหมวดหลักๆ ออกมาถ่ายทอดตามรายละเอียดด้านล่างกันค่ะ

Customer Segments
ปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เดินทางไปมายังประเทศจีนและประเทศที่ต้องใช้ภาษาจีนเป็นจำนวนมาก  ประกอบกับปัจจุบันสมาร์ทโฟนก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด นับเป็นตลาดและโอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่ที่ WayGo เล็งเห็นและเข้าไปจับตลาดนี้ก่อน

Value Propositions
ก็คือความสะดวกสบายนั่นเอง – WayGo ช่วยให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ไปกับล่ามสามารถใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในการช่วยแปลภาษาด้วยวิธีที่ง่าย ลดความยุ่งยาก โดยการนำเครื่องสมาร์ทโฟนไปส่องกับประโยคที่เราต้องการให้แปล ไม่ต้องพิมพ์หรือพูดอะไรทั้งสิ้น

Revenue Streams
เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจแบบ Freemium เช่นกัน คือการให้แปลฟรี 100 ครั้ง ถ้าใช้โควต้าหมดหลังจากนั้นสามารถแปลได้ฟรี 10 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าต้องการให้แปลแบบไม่จำกัดก็สามารถจ่ายเงินเป็นลูกค้าแบบ Premium ไปเลย

โดยการจ่ายเงินในแอพพลิเคชั่นมาในลักษณะของ In-App Purchase ซึ่งเป็นโมเดลนิยมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับนักพัฒนาบนสมาร์ทโฟนรายอื่นๆ เช่นเดียวกัน

หมายเหตุ : ภาพด้านล่างแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดแอพพลิเคชั่นในสหรัฐฯ ว่ารายได้หลักของแอพฯ นั้นมาจาก In App Purchase และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Key Resources
นอกจากจะมีทีมนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญแล้วยังมีเทคโนโลยี Image Recognition คือจดจำและวิเคราะห์ภาพตัวอักษร และทำการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษให้

Key Partners
การทำการตลาดโดยการโปรโมตแอพฯ ผ่านสื่อนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าเสริมทัพด้วยการมีพาร์ทเนอร์ที่ช่วยกระจายให้ WayGo เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงได้ก็จะยิ่งทำให้เร็วขึ้น ปัจจุบันทาง WayGo จับมือกับบริษัทท่องเที่ยวเพื่อโปรโมตและทำตลาดสู่กลุ่มนักท่องเที่ยว และให้แอพฯ กับทางอาจารย์ตามสถาบันสอนภาษาต่างๆ ในการช่วยโปรโมต

ถ้าเพื่อนๆ ผู้อ่านคนไหนกำลังเดินทางไปประเทศจีนก็ลองหาแอพฯ นี้มาลองดูได้ ว่ามีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และอีกไม่นานทางผู้พัฒนายังฝากบอกอีกว่าจะได้เห็นการแปลภาษาอื่นๆ เพิ่มอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่น และเกาหลี ตามมาติดๆ