Site icon Thumbsup

ทีมเทนเซนต์ มั่นใจ We TV ลงสนาม OTT ชูคอนเทนต์จีน ฐานแฟนคลับพร้อมจ่ายเพียบ

3 ศิลปินที่มางาน We TV (นิชคุณ-ตี้ลี่เล่อปา-หยางหยาง)

ไม่ใช่แค่ธุรกิจสื่อทีวีที่ต้องดิ้นรนกันอย่างหนัก เพราะ We TV ในฐานะ OTT Platform ที่กำคอนเทนต์จีนมากที่สุด เริ่มเข้ามาเล่นในตลาดนี้เอง ทำให้ธุรกิจสื่อทีวีที่กำลังมองหาคอนเทนต์จีนมาลงช่องของตนเอง อาจต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมแล้ว โดยเรื่องนี้ ทางผู้บริหารเทนเซนต์ในไทยอย่าง นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์
(ประเทศไทย) จำกัด ได้เล่าถึงเทรนด์ความนิยมของคอนเทนต์จีนและโอกาสในการเข้ามาทำตลาดในไทยให้ฟังอย่างน่าสนใจเลยค่ะ

อินเทอร์เน็ตทำให้คอนเทนต์จีนบูมต่อเนื่อง

เพราะเราเห็นเทรนด์การเติบโตของทั้งโลกที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตกว่า 25% ของทั้งโลกก็ใช้งานวีดีโอสตรีมมิ่ง หรือแม้กระทั่งคนไทยเองที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตวันละกว่า 9 ชั่วโมง
ก็ใช้เพื่อการดูวีดีโอหรือทีวีออนไลน์มากกว่า 35% หลังจากที่ได้มีการทดสอบเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้ใช้งาน WeTV ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 84 นาที ต่อวัน โดยแบ่งเป็นเพศหญิงกว่า 85% และเพศชาย 15% ผู้ใช้งานส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุเฉลี่ยที่ 18-34 ปี สำหรับคอนเทนต์ยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ซีรี่ย์รักโรแมนติค คอมเมดี้ 2. ซีรี่ย์ดราม่าย้อนยุค และ 3. ซีรี่ย์แนวแอคชั่น แฟนตาซี

นอกจากนี้ ยอดแอคทีฟของสมาชิกที่ลงทะเบียนใช้งานแบบทั้งฟรีและจ่ายเงินนั้น มียอดอยู่ที่หลักแสนต่อวัน นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานพร้อมจ่ายให้แก่คอนเทนต์ที่เขาอยากรับชม ทำให้บริษัทตั้งเป้าท็อป 3 ของ Top Grossing หรืออันดับของบริการบนแอพพลิเคชั่นที่คนยอมจ่าย ซึ่งอันดับที่เราคาดหวังในสิ้นปีนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นจริงได้ โดยเราอ้างอิงจากยอดผู้ใช้งานในจีนที่มีมากถึง 500 ล้าน Monthly Activer User แบ่งเป็นกลุ่มคนที่ยอมจ่ายมากถึง 89% ซึ่งในไทยเองก็ไม่น่าจะยากเกินไป

นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ การที่บริการ We TV ตั้งเป้าอันดับ 3 บน Top Grossing นั้น เพราะมองว่าคอนเทนต์ฟังเพลงอย่าง JOOX ก็สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งคอนเทนต์ประเภทซีรี่ย์ ภาพยนตร์ ละคร จะได้รับความนิยมและการยอมรับมากกว่า โดยสัดส่วนคอนเทนต์ในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น คอนเทนต์จีน 60% เพราะเราเป็นเทนเซนต์และเป็นพาร์ทเนอร์กับเพนกวิน พิคเจอร์ ทำให้มีคอนเทนต์จีนในระบบให้เลือกเยอะมาก ซึ่งเราจะเลือกคอนเทนต์เกรด A และพรีเมียม ตามมาด้วยคอนเทนต์ไทย 20% ที่เราร่วมมือกับทาง GMM และยังมองหาพาร์ทเนอร์ไทยอีกมาก เพราะนอกจากจะได้คอนเทนต์ไทยมาออกอากาศบน We TV แล้ว ยังมีโอกาสนำผลงานไปให้แก่ผู้ชมชาวจีนได้ดูด้วย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก

สุดท้ายคือคอนเทนต์ประเภท เกาหลี 10% และอเมริกาอีก 5% เพราะคอนเทนต์เหล่านี้มีในตลาดจากหลายบริการแล้ว เรามีเพื่อเสริมความครบครันของคอนเทนต์ที่หลากหลาย แต่หลักๆ คือต้องการนำเสนอคอนเทนต์จีนที่มีโอกาสเติบโตมาก แต่การสนับสนุนในตลาดยังมีน้อย

 

เป้าหมายในการทำตลาด OTT

หลังจากที่บริการ Joox ติดตลาดและสร้างรายได้ให้บริษัทได้แล้ว คอนเทนต์เกมก็ยังทำต่อเนื่อง ส่วนบริการคอนเทนต์ OTT ที่เรามองว่าตลาดมีความพร้อม พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ก็พร้อม ก็เลยเอา We TV ซึ่งเป็นบริการแบบเดียวกันกับที่เทนเซนต์ทำในจีนมาทำบ้าง ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่ามีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ

 

บริการ OTT ของแต่ละค่ายก็มีเป้าหมายในกลุ่มผู้ชมของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งซีรี่ย์จีนนั้นได้รับความนิยมมานานมาก สมัยที่เรายังเป็นเด็กยุค 90 เลย หลายคนที่อยู่ในยุค Gen X และ Gen Y ย่อมโตมากกับคอนเทนต์จีนอยู่แล้ว ดังนั้น เราเชื่อว่าการนำกระแสเหล่านั้นมานำเสนอบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ ตามยุคสมัยก็น่าจะตอบสนองความต้องการได้ดี โดยการเลือกซีรี่ย์แต่ละประเภทเข้ามาในระบบนั้น เราจะดูว่ามัน Mass ซึ่ง Target ผู้ชมของ We TV อยู่ที่เพศหญิง อายุ 18-34 ปี

แม้ว่าเราจะให้บริการแบบ Freemium แต่คอนเทนต์หนังและซีรี่ย์ต่างจากคอนเทนต์เพลง ซึ่งคนชอบฟังเพลงฟรีแต่ยอมจ่ายเงินเพื่อคอนเทนต์หนังมากกว่า ดังนั้น เราจะเชื่อมั่นว่าบริการนี้จะเติบโตได้เร็วและคืนทุนในระยะเวลาที่สั้นกว่าบริการอื่นๆ ด้านราคาที่วางไว้สำหรับบริการหนังอยู่ที่ 139 บาท/เดือน ถือว่าเป็นราคาที่ได้มาตรฐานตามท้องตลาดแม้ว่าจะแพงกว่าที่จีน ที่มีราคาเพียง 20 หยวนหรือประมาณ 90 บาทเท่านั้น แต่ราคานี้จะบันเดิลไปกับบริการ JOOX และจะมีแพคเกจที่หลากหลาย

นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มากถึง 9 ชั่วโมง/วัน มีการรับชมทีวีออนไลน์ 400 ล้านบัญชี และดูคอนเทนต์ทีวีผ่านโมบายอินเทอร์เน็ตมากถึง 100 ล้านคน นั่นจึงเป็นโอกาสสำคัญมาก หากเทียบกับบริการ JOOX ที่เพียงเดือนแรกก็มีการจ่ายเงินเพื่อซื้อคอนเทนต์เพลงดีๆ มากเท่ากับจำนวนประชากรฮ่องกงที่มีมากถึง 7.392 ล้านคนเลย

หากบริการ We TV สามารถสร้างรายได้กลับคืนให้แก่ Tencent ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เพราะ Tencent ทำบริการด้านคอนเทนต์มาหลายประเภทมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ข่าวและบันเทิงอย่าง Sanook.com บริการฟังเพลงอย่าง JOOX บริการคอนเทนต์เกมส์ และล่าสุดคือ We TV บริการสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่นับวันการแข่งขันก็ยิ่งหนักมาขึ้นเรื่อยๆ ต้องดูว่าใครจะเป็นผู้อยู่รอดในธุรกิจนี้