Site icon Thumbsup

Web Publishing ไทยกับความท้าทายในปี 2014

web_publishing

เมื่อวานผมมีโอกาสไปร่วมเสวนาในเวที จิบกาแฟคนทำเว็บ Web Trend 2014 หรือ #WebPresso ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมกับ ศิวัตร เชาวรียวงษ์ @siwat (ในมุมของ Web Marketing), ศิระ สัจจินานนท์ @hunt (ในมุมของ Web Programming), และ จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ @iMenn (ในมุมของ Web Design) โดยผมร่วมถกในมุมของ Web Content หรือ Web Publishing ในเมืองไทย ผมเลยนำบางประเด็นที่ผมพูดมาสรุปประเด็นไว้ในนี้ครับ หวังว่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนพ้องน้องพี่คนทำเว็บไทยไม่มากก็น้อยครับ

ย้อนอดีตกลับไปราวปี 2540 ปรเมศวร์ มินศิริ สร้างเว็บท่าในตำนานอย่าง Sanook.com จนสองปีต่อมา MIH ได้เข้าซื้อกิจการว่ากันว่าหลายสิบล้านบาท จุดประกายให้กลายเป็นกระแส Dotcom แบบไทยๆ บูมขึ้นมา ท่ามกลางความฝันความหวังของคนทำเว็บไทยหลายๆ คนที่คิดจะสร้างเว็บท่าขึ้นมาสักแห่งแล้วขายต่อหรือเข้าตลาดหุ้นคล้ายๆ กับที่มีทำกันในเมืองนอกเมืองนา ยุคนั้นคิดว่าหลายคนคงจำได้ว่ามีหลายเว็บเลย บ้างก็ยังอยู่ บ้างก็ล้มหายตายจากกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Mthai, Hunsa, Teenee, Pantip, Siam2You, Dek-D, Narak, Sabuy, LemonOnline ฯลฯ

เว็บที่ยกมาข้างต้นทั้งหมดนี้ ผมก็เพิ่งรู้มาสัก 5-6 ปีนี้เองว่าฝรั่งเขาเรียกกันเป็นศัพท์ว่า Web Publishing และคนทำเว็บแบบเรา พวกเอเยนซี่เขาจะเรียกเราว่า Publisher (แปลเป็นไทยแล้วฟังขัดๆ นะครับ “ตีพิมพ์เว็บ” คล้ายๆ ตีพิมพ์หนังสือ แต่แปลรวมๆ แล้วก็หมายถึง การเผยแพร่เว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาและชุมชนออนไลน์นั่นเอง) แต่จะเรียกว่าอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับ คนทำเว็บไทยปีนี้ พ.ศ.นี้จะดำเนินกิจการอยู่รอดกันได้อย่างไร

ที่ต้องใช้คำว่า “อยู่รอด” เพราะคนที่ใช้ชีวิตบนโลกอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พฤติกรรมคนเปลี่ยน พฤติกรรมการชมโฆษณาก็เปลี่ยนตาม คนทำเว็บก็ต้องเปลี่ยนไม่เช่นนั้นคงอยู่ยาก สิ่งที่ผมพูดไปในงานมีสำคัญ 4 ประเด็นดังนี้ครับ

1. มันเป็นปีของ Mobile – ทุกๆ ปีเราจะพูดว่าปีนี้จะเป็นปีของ Mobile แต่รายได้ของคนทำเว็บผ่าน Mobile ก็ยังไม่เคยเยอะสักที (ล่าสุดทาง DAAT ออกมาเผยว่าจากเงินโฆษณาออนไลน์ทั้งหมดในปี 2013 เป็น 4,248 ล้านบาท คิดเป็นรายได้จาก Mobile เพียงแค่ 1.9%) แต่ผมก็ยังขอยืนยันว่าแม้รายได้จะมามากน้อยแค่ไหน คนทำเว็บก็ต้องปรับตัว เพราะถึงเราจะติดขัดในเรื่องการหารายได้จากแทรฟฟิคบน Mobile จาก Display Ad แต่ผู้ใช้เข้าเว็บคุณทั้งบน Desktop และ Mobile พร้อมๆ กันมากขึ้น

ในเรื่องนี้ thumbsup พูดเองคงจะเฉยๆ ผมเลยยกหูคุยกับ “โน้ต” แห่ง Dek-D.com (วโรรส โรจนะ) ถามถึงแนวคิดเรื่องนี้ ก็ได้คำตอบว่า สำหรับ Dek-D เองในฐานะ Web Publisher ชั้นนำของไทย ปีที่ผ่านมาได้ทดลองขายแบนเนอร์บน Mobile ผ่าน Ad Network หลายๆ เจ้า เอง อย่างเช่น InMobi, Admob, VServe, VDOPia ผลตอบรับก็ถือว่าแค่ประมาณหนึ่ง แต่พอมาดูในแง่สถิติ ทาง Dek-D ก็ไม่สามารถเพิกเฉยต่อเทรนด์นี้ได้เพราะกว่า 40% ของผู้ใช้เข้าผ่านทาง Mobile แล้ว อีกทั้งคนที่ดูผ่านแอปพลิเคชั่นก็มีมากกว่า 30,000 คนต่อวันแล้ว

“ปีนี้เป็นปีที่เรามุ่งจะทำรายได้ผ่าน Mobile จริงจังครับ รายได้ของ Dek-D ส่วนใหญ่ราว 90% เป็น Online Media แบบครบวงจร ที่ผสมไปด้วย advertorial, display ad, การทำ campaign ตลอดจนการขายหนังสือ ขายของที่ระลึก ซึ่ง Display Ad มันจะผสมอยู่ภายในก้อนนี้อยู่แล้ว ปีนี้เลยต้องหันมาขายจริงจัง ผมคาดว่า 20% ของรายได้จากโฆษณาจะมาจากตรงส่วนของ Mobile นี่ล่ะครับ”

ผมถาม “โน้ต” ต่อไปว่าแล้วมีคำแนะนำอะไรกับ ก็ได้คำตอบว่า ก็แนะว่าทุกเว็บต้องดูได้สมบูรณ์แบบทั้งบน Mobile และ Desktop ไม่เช่นนั้นแทรฟฟิคที่มาจาก Mobile จะกลายเป็นแทรฟฟิคที่ไม่มีรายได้

2. ทำเนื้อหาสำหรับบน Search และ Social ให้เหมาะสม – การที่คนจะมาเจอเนื้อหาดีๆ ของเรา Search และ Social เป็นเรื่องสำคัญ เรารู้ว่าทำ SEO แล้วคนจะเจอเนื้อหาบนเว็บของเรามากขึ้น Social ก็ต้องทำ SMO เช่นกัน โดยเฉพาะ Facebook ที่มีคนดูกว่า 24 ล้านคนในประเทศไทย 16 ล้านคนอยู่บน Mobile แล้ว เราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น พยายามใช้รูปเล่าเรื่องและใช้ถ้อยคำที่กระชับมากขึ้น เพราะคนมีเวลาลดลง รวมไปถึงการทำภาพ Cover และ Micro-content ต่างๆ ให้ดี ภาพที่ใช้แค่สวยไม่พอ แต่จะต้อง “โคตรสวย” และเล่าเรื่องได้แทนคำนับพันคำ

3. Not talking about product, but around the product – อันนี้ผมจำคำฝรั่งเขามาพูดอีกทีครับ ว่า Content ที่ดี ไม่ควรจะเป็นการพูดถึงผลิตภัณฑ์แบบตรงๆ แต่เป็นการพูดถึงผลิตภัณฑ์แบบอ้อมๆ ซึ่งจะว่าไปมันก็จริง ผมจำได้ว่ามีอยู่ทีนึงผมทำคลิปแนว Infomercial ของที่บริษัท บอกว่าโทรศัพท์รุ่นหนึ่งของผมมีจุดดีตรงจอใหญ่ทำให้ดูหนังได้เต็มตาเต็มอารมณ์กว่า ปรากฏว่าคนไม่เก็ต แต่พอบอกว่าโทรศัพท์รุ่นหนึ่งของผมจอมันใหญ่ทำให้ผมเก็บผักในเกม HayDay ได้หมดในการกวาดนิ้วทีเดียว อันนี้ปรากฏว่าคลิปนั้นมีคนมาดูกว่า 100,000 ครั้งโดยไม่ต้องลงมีเดียเลย

 4. บทบาทของ Web Content ไม่ใช่แค่ทำ Content แต่ต้องทำให้ครบวงจร นั่นคือ Content, Social, Community และ Digital PR คนทำเว็บทำ Content บนเว็บแล้วต้องคอยดูด้วยว่าจะเอามาแชร์บน Social อย่างไร, จากเดิมเคยดูแลคนในเว็บบอร์ด ตอนนี้ต้องมาดูแลคนบน Social ด้วย และแน่นอนว่ารวมไปถึงการทำ Digital PR ด้วยเพราะ Influencer หรือ Endorser ของแบรนด์ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยให้คุณประสบความสำเร็จมากขึ้นได้

ใครที่ต้องการจะฟังทั้งหมด รอติดตามจาก webmaster.or.th นะครับ

ที่มาของภาพ: cca.edu