Site icon Thumbsup

บทเรียนจากการเขียน Blog มา 12 ปี

ช่วงวันหยุดยาว มีเวลาอยู่กับตัวเองนานหน่อย ผมเลยเกิดฉุกคิดได้ว่าแป๊บๆ ก็เขียน Blog มาร่วม 12 ปีได้แล้ว (นี่ยังไม่นับยุค “ไดอะรี่” แบบไปส่องๆ กันเองบน DiaryHub, Storythai, Exteen ฯลฯ) ก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเราเรียนรู้อะไรจากการใช้เวลาตั้ง 1 รอบชีวิตกับมันบ้าง มันมีความหมายว่าอะไร เลยอยากเขียนเอาไว้เป็นบันทึกกับตัวเองไว้ใน thumbsup ครับ

นั่งนึกย้อนกลับไป เราเจออะไรมาบ้าง?

เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งธรรมดาที่เจอ แต่ถึงจะเหนื่อยกับมันแค่ไหน เราก็รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ทำ เพราะเรารู้ว่าเป้าหมายในการทำงานตรงนี้ไม่ใช่แค่การทำเพื่อตัวเอง แต่มันเป็นการทำอะไรที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่าตัวเอง โดยเฉพาะการให้อะไรกับ “คนอ่าน”

ผมไม่ได้ตู่เอาเองนะครับ ลองโพสต์ถามเพื่อนรอบๆ ตัวดูแล้วว่า “อะไรทำให้คุณยังคงเขียน Blog, เปิดเพจมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เลิกล้มไปเสียก่อน จงอภิปราย” ปรากฏว่ามีเพื่อนๆ Blogger เขียนตอบกันมามากกว่า 50 ความคิดเห็น ขอเอาบางส่วนมาใส่ในนี้นะครับ แทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่มาได้ขนาดนี้เพราะ “คนอ่าน”

Mao Investor – 1. เริ่มทำเพราะชอบ 2. ทำต่อเนื่องเพราะมีคนอื่นชอบและส่งพลังกลับมาให้เรา การที่มีคนมาเม้นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ดีใจแล้ว ถ้าไม่มีคนอ่านก็คงไม่ได้ทำต่อนานขนาดนี้ค่ะ สรุปคือเพราะคนอ่าน

MartinPhu – ของผมเขียนมาตั้งแต่ปี 2009 มาจนถึงปัจจุบันเพราะว่า ยังมีคนตามอ่าน และพูดคุยกันเสมอ รู้สึกว่าได้แบ่งปันความรู้หรือสิ่งที่เราได้ไปพบเห็นมาครับ ยังไม่เคยรู้สึกว่าอยากเลิกเขียน เพราะว่าสนุกที่จะแชร์ครับ ไม่ได้คาดหวังเรื่องชื่อเสียงหรืองานที่จะเข้ามาผ่านบล็อกสักเท่าไหร่ครับ

Designil – ชอบขีดๆ เขียนๆ ฮะ // เคยแพลนว่าจะเขียน Blog เรื่องนี้อยู่นานมากแล้วฮะ ตอนนั้นมีนักศึกษาเมลมาขอบคุณที่บทความในเว็บทำให้เค้าเรียนจบ

8 บรรทัดครึ่ง – เพราะยังมีคนอ่านครับ

Jetboat – คุณค่าในตัวเอง

iAumReview – ส่วนนึงกลายเป็น Routine ที่เราทำจนเคยชิน ไม่ทำคือขาด ส่วนนึงก็เป็น Business ไม่ทำ ก็ไม่มีกิน ไม่มีใช้เท่าปัจจุบัน ส่วนนึงกลายเป็นความรัก เบื่อกันบ้าง เซ็งกันบ้าง แต่ถ้าไม่มีแก ก็ไม่มีใคร อะไรแบบนี้ค่า

@kidmakk – เยียวยาความรู้สึกของตัว และคนอื่นๆ ครับ

ความเห็นของหลายๆ ท่านดีๆ เพียบเลยแต่อาจจะคล้ายกันเลยไม่ได้ลงตรงนี้ ลองไปอ่านกันดูในโพสต์นี้นะครับ แต่ผมคิดว่าพอจะสรุปรวมๆ ได้ว่า…

โดยส่วนใหญ่แล้ว Blogger แทบทุกคนเขียนมาได้อย่างยาวนานเพราะใจรัก ทำไปแล้วรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ทำจนกลายเป็นนิสัย และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วถ้าไม่ได้ทำ Content ให้คนอ่านได้เสพจะรู้สึกขาดอะไรไปสักอย่าง 

และนอกจากเหตุผลที่เขียนมาข้างบนทั้งหมด ที่จริงผมมีมุมมองเพิ่มเติมว่า Blogger อาจไม่จำเป็นต้องตอบสนองกลไกการตลาดแต่อย่างเดียวก็ได้ หากแต่ Blogger สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมระดับที่ใหญ่ขึ้นได้ด้วย

บางคนอ่านไป อาจจะมีคำถามว่า Blogger เนี่ยนะ สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอะไร?

เป็นอาชีพก็แค่ทำแลกเปลี่ยนเงินไปก็จบแล้วนี่นา?

ประเด็นที่ผมอยากจะแชร์กับทุกคนในวันนี้ ไม่ใช่แค่ว่า Blogger ในฐานะอาชีพๆ หนึ่งมันเป็นยังไงหรอกครับ แต่ผมอยากจะชี้ว่าที่จริงแล้ว Blogger จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมในมิติที่มันนอกเหนือไปจากการหารายได้ได้ด้วย

เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ผมขอยกตัวอย่างของ Blogger คนหนึ่งครับ

คุ้นหน้าผู้หญิงคนนี้กันบ้างไหมครับ?

เธอชื่อ มะลาละห์ ยูซัฟซัย ครับ ปัจจุบันเธอเป็นนักการศึกษาและนักเรียกร้องสิทธิสตรี อายุแค่ 21 ปีเท่านั้นเอง

เมื่อสิบปีก่อน เธอเป็นเด็กนักเรียนจากเมืองมินโกรา เขตสวัด ประเทศปากีสถาน มะลาละห์เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อเธออายุเพียง 11 ปี ในฐานะ Blogger คนหนึ่งที่เขียน Blog ส่งให้สำนักข่าว BBC ทั้งหมดเกิดขึ้นจาก ณ เวลานั้นในเขตหมู่บ้านของเธอจะมีกลุ่มตาลีบันที่คอยห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้าศึกษาในโรงเรียน มะลาละห์คิดว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เธอเลยเขียน Blog เล่าเรื่องราวชีวิตของเธอภายใต้ระบอบตาลีบันที่พยายามเข้าไปควบคุมหุบเขา และมุมมองของเธอต่อการสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กผู้หญิง

สิ่งที่เธอเขียน เธอเขียนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในระดับที่สูงขึ้นไปกว่าตัวเราเองอย่างเดียว Blog ของเธอจึงมีพลัง และพลังนี้ก็ส่งต่อไปถึงสถาบันอื่นๆ

ต่อมาทางสำนักข่าว New York Times อ่าน Blog ของเธอจึงได้สนใจเข้ามาทำสารคดีชีวิต วิธีคิดของเธอ สารคดีชิ้นนั้นทำให้สื่อทั้งในและต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจทำให้เธอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น จนต่อมามะลาละห์ก็ได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กเขตสวัด จากนั้นเธอได้รับการเสนอชื่อรางวัลระดับนานาชาติมากมาย

แต่ชื่อเสียงที่มากขึ้นของเธอกลับทำให้กลุ่มตาลีบันไม่พอใจ… มะลาละห์ ถูกกลุ่มตาลีบันลอบยิงเข้าที่หัวและคอสาหัสปางตาย แต่โชคดีที่รอดมาได้ จนในที่สุด มูลนิธิโนเบลได้ประกาศให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกจากนี้นิตยสาร TIME ยังได้ระบุว่ามะลาละห์คือหนึ่งในบุคคลผู้มีอิทธิพลที่สุดของโลกในปีนั้นอีกด้วย

จากเส้นทางเหล่านี้จะเห็นได้ว่า มะลาละห์ เริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการเขียน Blog แต่เธอคิดจากฐานของแนวความคิดในการทำสิ่งที่เหนือกว่าตัวเองขึ้นไปในระดับที่สร้างผลกระทบกับคนจำนวนมาก อย่างในกรณีนี้ก็คือการต่อสู้เพื่อสิทธิในการศึกษาของเด็กผู้หญิง ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเองอย่างเดียว

ถ้าลองมองดูดีๆ คุณจะเห็นว่าเส้นทางชีวิตของเธอ เมื่อเธอเลือกที่เขียน Blog เกี่ยวกับเรื่องที่มีคุณค่าอย่างสิทธิสตรี เธอก็ได้รับความสนใจจากผู้คน จากสื่อ จาก Blogger คนอื่นๆ และเมื่อเรื่องของเธอได้ถูกนำไปเล่าต่อจนกลายเป็นสารคดีของ New York Times ประกอบกับการต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง

– – – – –

พาคุณกลับจากปากีสถานมาที่ไทย…

ผมรู้สึกดีใจที่ได้เขียน Blog รับใช้ Community ที่อยู่รายรอบตัวผมมาถึง 12 ปี และจากนี้ไปก็เลยอยากจะท้าทายตัวเองว่าอยากจะให้ Blog ที่เขียนนี้สามารถทำสิ่งที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านี้ได้อีก และปี 2019 จะเป็นปีที่ผมจะทำมันให้ดีขึ้นไปอีกเพื่อให้สามารถรับใช้คุณได้มากกว่าเดิม