Site icon Thumbsup

Harlem Shake คืออะไร?

clip4_1

ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับการเต้น Harlem Shake มาแรง เลยขอรวบรวมเอาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับมันมาแชร์กันใน thumbsup เสียหน่อย ในฐานะที่มันเป็นกระแสบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า “Internet meme” นั่นเอง

Harlem Shake เป็น Internet meme ที่ทุกๆ คนก็เอาไปทำตามได้ วิธีการเล่นก็ง่ายๆ ครับ เพียงแต่รวมตัวกันเต้นท่าตลกๆ โดยใช้เพลง “Harlem Shake” ของศิลปินที่ทำเพลงแนว electronic dance และ house ชื่อ บาวเออร์ (Baauer) โดยการเปิดเพลง?Harlem Shake เป็นเวลา 30-32 วินาที แล้วก็เต้นโดยเริ่มจากใครคนใดคนหนึ่งเริ่มเต้นขึ้นมาก่อน ขณะที่คนอื่นนั้นก็ทำอะไรไปตามปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอถึงวินาทีที่ 15 ของเพลง คนทุกคนในซีนก็ต้องลุกขึ้นมาเต้นตามสไตล์ของตัวเองจนจบเพลง จะเต้นเพี้ยนหรือรั่วแค่ไหนก็ตามสบายเลยทีนี้

เทรนด์นี้เนื่องจากมันตลกและทำตามได้ง่ายเลยมีคนเลียนแบบกันไปทั่วโลก โดยทั้งหมดนี้เริ่มจากต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีวัยรุ่นห้าคนในรัฐ Queensland ประเทศ Australia โพสต์ลงใน YouTube ก่อนโดยใช้ชื่อวิดีโอว่า The Sunny Coast Skate เฉพาะคลิปแรกนี้ทำไปทำมามีคนดูเกือบ 20 ล้านคนแล้ว ในวิกิพีเดียมีรายงานไว้ว่าตอนนี้ Harlem Shake ดังเป็นไฟลามทุ่ง เพราะมีคนเลียนแบบไปแล้วกว่า 40,000 แบบ มีคนดูคลิปพวกนี้ไปแล้วกว่า 175 ล้านครั้ง

ส่วนเหตุผลที่มันกลายเป็น Viral ไปทั่วก็เป็นเพราะมันสนุก มันตลก เบาสมอง เลียนแบบได้ง่าย และท้ายสุดเป็นเพราะมีสื่อกระแสหลักนำไปเสนอต่อนั่นเอง เมืองนอก Pepsi ก็เอา Harlem Shake ไปทำโฆษณาเช่นกัน ในเมืองไทยเราเองก็สนุกกันครับ VRZO เอามาทำบ้าง นักเรียนขาสั้นก็เลียนแบบ คลิปรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่ากทม. หรือแม้กระทั่งสถานทูตอเมริกันประจำประเทศไทยก็เอากับเขาด้วย พอมันดังเข้ามากๆ ก็เลยมีคนหัวใสคิดเอาไปทำเลียนแบบเพื่อการตลาดก็มีหลายคลิป อย่างคลิป บอย โกสิยพงษ์ สำหรับงาน CHEVROLET / เน็ตไอดอล ที่เนียนไปกับ Samsung Galaxy S3 Mini / คลิปโปรโมทหนัง พี่มาก พระโขนง ซึ่งก็ได้ผลตอบรับไม่เลว เพราะตอนนี้คนก็กำลังค้นหาคลิปเกี่ยวกับเรื่อง Harlem Shake อยู่แล้ว

ท้ายสุดมีคนเอา Harlem Shake มาเปรียบเทียบกับ กังนัมสไตล์ อยู่เหมือนกัน แต่ท้ายสุดมันไม่เหมือนกันครับ Harlem Shake จะออกเป็นแนวที่คนเอาไปเลียนแบบกันได้กว้าง ส่วนกังนัมที่ไซเป็นคนเต้นนั้นออกแนวตลกอย่างเดียวไม่ใช่แนว Crowdsourcing แบบ Harlem Shake สักหน่อย ถ้าจะเอาให้คล้าย น่าจะไปคล้ายพวก Planking ที่เราเคยนำเสนอไว้เมื่อหลายปีก่อนนะครับ

ที่มา: Wikipedia, Kapook!