Site icon Thumbsup

เราเรียนรู้อะไรจาก MySpace?

ท่ามกลางกระแสข่าวน้ำท่วมในประเทศไทย ผมเข้าใจครับว่าคงไม่ค่อยมีใครมีอารมณ์อ่านข่าวแนวที่เรานำเสนอเท่าไหร่ แต่ไม่อัพเดตก็คงจะไม่ได้ครับ ข่าวนี้น่าสนใจไม่น้อย

วันนี้พอดีมีข่าวออกมาว่า Rupert Murdoch แห่ง News Corporation เจ้าพ่อสื่อยักษ์ใหญ่ของโลก ออกมายอมรับว่าการตัดสินใจซื้อ MySpace Social Network ชื่อดังไปในราคา เกือบ 600 ล้านเหรียญเมื่อหลายปีก่อนนั้น เป็น “ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง” จนตอนหลังต้องมาเลหลังขายในราคาขาดทุนยับที่ 35 ล้านเหรียญ ทำให้ผมคิดอะไรได้หลายๆ ประเด็นมาแชร์กับ thumbsuper ทุกท่าน

ก่อนที่จะวิเคราะห์กันต่อไป ขอย้อนพาคุณกลับไปดูที่มาที่ไปของ “MySpace” ก่อนนะครับ

MySpace คือบริการแนว Social Network เปิดตัวขึ้นในเดือนสิงหาคมปีพุทธศักราช 2546 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Beverly Hills รัฐ California ก่อนหน้านี้ในปี 2544 News Corporation ของ Rupert Murdoch ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Intermix Media ผู้สร้าง MySpace มาในราคา 580 ล้านเหรียญ (ราว 17,400 ล้านบาท) จากนั้นก็มีผู้ใช้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2549 ก็มีคนเข้าใช้มากกว่า Google ในสหรัฐฯ เรียกได้ว่ารุ่งเรืองสุดๆ ทีเดียว

แต่หลังจากนั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน MySpace ก็ถูก Facebook แซงหน้าในแง่จำนวนผู้ใช้ทั่วโลก จากนั้นไม่ว่าจะปรับหน้าตา และรีแบรนด์แค่ไหนก็ไม่ฟื้นคืนชีพ จนพาไปสู่การเลิกจ้างพนักงานเรื่อยมา เพราะจำนวนผู้ใช้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเดือนมิถุนายน 2554 Specific Media และ Justin Timberlake ก็ได้เข้าซื้อกิจการต่อจาก News Corporation ไป 35 ล้านเหรียญ โดยบอกว่าทิศทางใหม่ของ MySpace คือ “การเป็น Social Network เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น” โดยทีมงานใหม่มองว่า MySpace จะเป็นที่ที่ผู้ใช้จะเข้าไปเจอเนื้อหาแบบดั้งเดิมที่มาจากผู้สร้างจริงๆ ทั้งแบบรายการทีวีโชว์ในแบบวิดีโอ และดนตรี (the premiere digital destination for original shows, video content, and music)

แต่วันนี้ผมลองเข้าไปใช้งานก็ปรากฏว่ายังไม่ได้มีความคืบหน้าอะไร ลองเข้าไปฟังเพลงเก่าๆ ที่ผมชอบแบบ Bon Jovi ก็ฟังไม่ค่อยได้ เทียบกับ Facebook.com/BonJovi ที่อัพเดตตลอดเวลาไม่ได้จริงๆ สงสัยเพราะไม่มีคนดูแลมันเท่าไหร่แล้ว ส่วนในแง่ความนิยม ผมลองตรวจสอบจำนวนผู้ใช้ปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคมปี 2554 ตอนนี้ MySpace มีผู้ใช้อยู่เพียง 33.1 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป แต่อย่าเพิ่งเลิกเข้าไปดูนะครับ อาจจะมีอะไรใหม่ๆ ก็ได้

นอกจากความล้มเหลวของ MySpace แล้วก็ยังมี Social Network ตัวอื่นๆ ที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน อย่างเช่น BeBo บริการ Social Network ชื่อดังที่ถูก AOL ซื้อไปในปี 2551 ด้วยราคา 850 ล้านเหรียญ เพราะเหตุผลว่า BeBo กำลังมาแรงและมีแนวโน้มในการสร้างรายได้ผ่านโฆษณาออนไลน์ให้กับ AOL ได้ แต่ท้ายสุด AOL ก็ต้องขาย BeBo ให้กับ Criterion Capital Partners ไปด้วยราคาต่ำกว่า 10 ล้านเหรียญ เพราะการเติบโตของ BeBo ไม่ได้ยั่งยืนท่ามกลางการเข้ามาของ Facebook เฉกเช่นเดียวกันกับ Social Network รายอื่นๆ อย่าง Friendster ที่หลายคนมองว่าเคยดัง ตอนหลังก็ต้องขายกิจการให้กับ MOL ที่มาเลเซียไปในที่สุด หรือบริการ Hi5 หรือ “ฮิห้า” ที่ชาวไทยคุ้นเคย จากที่เราเคยใช้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ก็กลายเป็นบริการที่แทบจะไม่มีใครใช้ และยังไม่มีใครซื้อกิจการไป

เราจึงพอสรุปสั้นๆ ได้ว่า Social Network เป็นผลิตภัณฑ์ท่ี่มาเร็วไปเร็ว คนใช้งานง่ายเติบโตได้รวดเร็ว แต่ผู้ใช้ก็พร้อมที่จะลาจากคุณไปในช่วงเวลาแค่คลิกเดียวเท่านั้น ดังนั้นการสร้าง Social Network ขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมแทบทุกสิ่งอย่างนั้นไม่น่าจะเป็นทิศทางที่ดีนัก นอกเสียจากว่า Social Network ที่จะเกิดใหม่จะต้องจับแนวทางเฉพาะสำหรับตัวเอง และสามารถหารายได้จากกลุ่มเฉพาะได้ชัดเจน หา Positioning ที่ชัดเจนว่าตัวเองจะเป็นบริการ Social ของด้านไหน หรือไม่ก็ต้องมีการดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง อย่างในเมืองไทยบริการ Social เฉพาะทางที่กำลังไปได้ดีก็จะมีอย่าง DogiLike.com ซึ่งเป็นบริการ Social Network ของคนรักหมา และตอบโจทย์คนรักหมาได้มากกว่า Facebook หรือบริการ Blog อย่าง Bloggang.com, Exteen.com ที่เว็บมาสเตอร์แต่ละแห่งยังให้บริการลูกค้าได้อย่างน่าประทับใจ

สรุปสั้นๆ ท้ายข่าวนี้อีกทีครับว่า Social Network แบบเหมารวมไม่เวิร์คแล้วครับ ตอนนี้จับกลุ่มเฉพาะดีกว่า หาจุดยืนที่ Niche และให้บริการได้ดีกว่าพวก Global platform ดีกว่า หรือคุณคิดต่างไปจากนี้?